ASTVผู้จัดการรายวัน - “อสมท” ยันประเด็นช่อง 3 แอนะล็อกไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน ชี้ทางออกมี 2 ทางคือ เช่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ และรวมบริษัทกัน ล่าสุดพร้อมเดินหน้ายื่นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างโครงข่ายดิจิตอลมูลค่า 440 ล้านบาทเข้า ครม.ต้นเดือน ต.ค.นี้ อ้างต้นเหตุความวุ่นวายของอุตสาหกรรมโทรทัศน์มาจาก “กสทช.” ส่งผลครึ่งปีแรกช่อง 9 กำไรหด 60% ทั้งปีหวั่นทำไม่ถึง 3,000 ล้านบาท
นายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาช่อง 3 แอนะล็อกในความเป็นจริงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานระหว่าง อสมท กับช่อง 3 เนื่องจากสัญญาฉบับนี้เป็นแบบเก่าที่มุ่งเน้นในเรื่องของทรัพย์สินและรายได้ที่ทาง อสมท จะได้รับจากช่อง 3 โดยไม่มีเรื่องของคอนเทนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยโทรศัพท์มาสอบถาม และ อสมท ก็ได้ตอบไปแล้ว
ดังนั้น อสมท ในฐานะเจ้าของสัมปทานช่อง 3 มองว่า การที่ช่อง 3 แอนะล็อกจะนำคอนเทนต์ไปออกอากาศในระบบดิจิตอลนั้นสามารถทำได้โดยไม่ผิดต่อสัญญาสัมปทานที่ทำไว้ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ กระทำเชิงนิติกรรมด้วยการใช้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้เช่าลิขสิทธิ์รายการจาก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 3 แอนะล็อก ไปออกอากาศ
ในกรณีนี้ อสมท ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานจะไม่ได้มีส่วนได้รับรายได้เพิ่ม แม้ว่าช่อง 3 แอนะล็อกจะสามารถเข้าถึงผู้ชมในแพลตฟอร์มดิจิตอลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ทำได้คือ อสมท จะได้รับค่าเช่าสัมปทานจากช่อง 3 ปีละ 150 ล้านบาทจากปี 2558-63 รวมแล้วกว่า 1,500-1,600 ล้านบาท และทรัพย์สินอุปกรณ์ระบบการส่งสัญญาณต่างๆ ที่ทางช่อง 3 มอบให้รวมมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทเท่านั้น
*** แนะช่อง 3 รวมบริษัทดิจิตอล-แอนะล็อก ***
อีกกรณีหนึ่งคือ การนำทั้งสองบริษัทมารวมเป็นบริษัทเดียวสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเองตามที่ กสทช.กำหนดเพื่อความสะดวกต่อการดึงช่อง 3 แอนะล็อกสู่ดิจิตอล ซึ่งในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากค่อนข้างมากและใช้เวลานาน แต่มองในระยะยาวจะเป็นผลดีกว่าข้อแรกซึ่งช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเช่าคอนเทนต์มาออกอากาศในระบบดิจิตอลอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างสำหรับคอนเทนต์บางรายการที่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมในระบบดิจิตอล เช่น พรีเมียร์ลีก และเดอะวอยซ์ เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่าสามารถทำได้หากเจรจาตกลงกันหาทางออกร่วมกัน
“ปัญหาช่อง 3 แอนะล็อกที่เกิดขึ้น ในแง่ของสัญญาสัมปทานไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย โดยในทางปฏิบัติช่อง 3 สามารถนำคอนเทนต์ไปออกอากาศในดิจิตอลได้ แต่โดยรวมแล้วมองว่าช่อง 3 ไม่อยากไปแอนะล็อกในเวลานี้เพราะมีแผนลงทุนไว้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันมองว่า กสทช .เองก็เร่งให้ฟรีทีวีก้าวผ่านจากแอนะล็อกสู่ดิจิตอลเร็วจนเกินไป ทั้งที่หลายๆ เรื่องยังไม่พร้อม ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่องอย่างที่เกิดขึ้น”
*** “อสมท” เยียวยา 3 ช่องดิจิตอล ***
ส่วนในเรื่องของโครงข่ายดิจิตอล ล่าสุด อสมท เตรียมนำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 440 ล้านบาทนำเสนอ ครม.ภายในต้นเดือน ต.ค.นี้ เชื่อว่าจะสรุปผลและดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 57 ส่งผลให้ปีหน้าระบบโครงข่ายของ อสมท จะมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น จากที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้น 2-3 ครั้ง ซึ่ง อสมท พร้อมเยียวยาผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย คือ ไทยรัฐทีวี วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ ด้วยการลดค่าบริการคิดจากความเสียหายที่หายไปจากค่าโฆษณา โดยทั้ง 3 รายยินดีที่จะให้เยียวยาด้วยการลงโฆษณาในช่อง 9 แทน โดยล่าสุดเตรียมนำทั้ง 3 รายไปร่วมทดสอบสัญญาณเครือข่าย เพื่อหาข้อดี-ข้อเสียของสัญญาณและนำข้อมูลไปเสนอและโต้แย้งกับ กสทช.ด้วย
*** โมเดิร์นไนน์รายได้วูบ 30% ***
นายธนะชัยกล่าวต่อว่า จากปัญหาของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้เจ้าของสินค้าและเอเยนซีชะลอการใช้เงินโฆษณานั้น ส่งผลให้รายได้ทีวีในช่วงครึ่งปีแรกหายไปกว่า 30% และกำไรต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 60% โดยในครึ่งปีหลังเดิมคาดว่าจะได้เห็นสัญญาณบวกและมีการลงโฆษณามากขึ้นในไตรมาสสามแต่กลับนิ่งเช่นในครึ่งปีแรก ส่วนไตรมาสสี่เชื่อว่าจะดีเช่นปีก่อนเพราะเป็นช่วงการใช้เงิน แต่โดยรวมทั้งปีแล้วมองว่ารายได้ทีวีอาจจะต่ำกว่าเป้า 4,300 ล้านบาทที่ตั้งเป้าไว้เกือบครึ่ง หรือน่าจะทำได้น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
“การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเรียงช่องในแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ทำให้ช่อง 9 อสมท หล่นไปอยู่เลขช่องที่ 40 จากเดิมเลข 4 ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เข้าถึงผู้ชมยากขึ้น ซึ่งปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการก้าวสู่ดิจิตอลที่เร็วเกินไป เพราะโครงข่ายดิจิตอลยังไม่เรียบร้อย และ กสทช.แก้ปัญหาด้วยการบังคับแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีแลทีวีดาวเทียมให้นำช่องดิจิตอลไปออก หมายเลขช่องจึงเปลี่ยน ผู้ชมสับสน เม็ดเงินโฆษณาชะงัก รายได้จึงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ อสมท ต้องมีการปรับตัวรับมือเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เช่น การจำหน่ายกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ ซึ่งในตลาดมีอยู่แล้ว 2 รุ่น คือ “วิว” ราคา 990 บาท และ “เพลย์” 1,200 บาท ล่าสุดเตรียมนำเสนออีก 3 รุ่น คือ “เคิร์ฟ” 990 บาท “แมกซ์” 990 บาท และที่กำลังพัฒนาอยู่คือ “พลัส” 2,000 บาท โดยตั้งเป้าจำหน่ายใน 3 ปีนี้ให้ได้ทั้งหมด 2.5 ล้านกล่องรวมกัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 440 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 14.1 ล้านเครื่องใน 3 ปี โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขายที่ 1 ล้านเครื่อง