ASTVผู้จัดการรายวัน - ขุมทรัพย์ 1.8 หมื่นล้านบาท ชนวนเหตุช่อง 3 สร้างเกมซื้อเวลาสู่ทีวีดิจิตอลตามเวลาสัมปทานช่อง 9 ในอีก 6 ปี เป็นเหตุเปิด 4 ช่องโหว่หลักทีวีดิจิตอลเกิดช้า กสทช. ต้องเข้ม ดึงช่อง 9 และช่อง 3 จับเข่าคุยพร้อมกัน
กรณี “ช่อง 3 อะนาล็อก” หรือ “ช่อง 3 ออริจินัล” กับการยึดเงื่อนไขสัมปทานเดิมที่ทำไว้กับช่อง 9 อสมท ที่ยังคงเหลือเวลาในการออกอากาศภาคพื้นดินไปได้อีก 6 ปี หรือจะหมดสัญญาลงในปี 2563 นั้น หากยึดตามสัญญานี้แล้ว ช่อง 3 อะนาล็อก จะไม่สามารถออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลได้ โดยช่อง 3 อ้างว่า “บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ที่เป็นเจ้าของช่อง 3 เป็นคนละบริษัทที่ใช้ประมูล “ช่องทีวีดิจิตอล” ที่ใช้ “บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด” ประมูลทีวีดิจิตอลมา 3 ช่องนั้น หากนำช่อง 3 อะนาล็อกไปออกคู่ขนาน หรืออยู่บนทีวีดิจิตอลจะเป็นการผิดสัญญาสัมปทานได้
เกมนี้จึงเป็นเกมที่ช่อง 3 อะนาล็อก พร้อมใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ในการซื้อเวลาให้นานที่สุด เพื่อให้ยังคงออกอากาศตามสัญญาสัมปทานเดิม เหตุสำคัญอาจไม่ใช่แค่การกลัวผิดสัญญา แต่อยู่ที่มูลค่ารายได้กว่าปีละ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี จะหายไปกว่าครึ่ง!!! พร้อมภาระที่เพิ่มขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำไมช่อง 3 ถึงไม่ยอมออกคู่ขนานเช่นเดียวกับช่องฟรีทีวีอื่นๆ
ยิ่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ช่อง 3 ออกมาชี้แจงผ่านช่วงรายการข่าวของทางสถานีไทยทีวีสีช่อง 3 กรณีไม่ออกอากาศคู่ขนาน โดยเฉพาะจากใจความสำคัญข้อที่ 3 ที่ว่า ถ้า “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” (กสท.) จะอนุญาตให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด นำรายการของช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน (Pass Through) โดยที่สัญญาณเนื้อหารายการและโฆษณาของช่อง 3 จะต้องไม่ถูกดัดแปลงแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ช่อง 3 ในเรื่องลิขสิทธิ์รายการจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และยังมีขั้นตอนที่ทั้ง “บีอีซี มัลติมีเดีย” และ “บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์” ต้องไปดำเนินการระหว่างกันให้ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องไปหารือทำความตกลงกับ กสท. ในเรื่องการขออนุญาต ค่าประมูล ค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎ และเป็นธรรมต่อไป
รวมถึงการชี้แจงในกรณีไม่ขออนุญาตเป็น Pay TV ใน ข้อ 2. ที่ว่า แม้ช่อง 3 จะไปขออนุญาตเป็น Pay TV ตามที่ กสท. แนะนำ เพื่อให้โครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลทีวีสามารถนำสัญญาณของช่อง 3 ไปออกอากาศได้นั้น เจ้าของลิขสิทธิ์รายการของช่อง 3 ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ ประเภท Pay TV จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการดัดแปลง แก้ไขสัญญาณ เนื้อหารายการ หรือโฆษณาหรือไม่ก็ตามจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอใบอนุญาตเป็น Pay TV
“ข้อชี้แจงดังกล่าวคือ คำสารภาพของช่อง 3 ที่มัดตัวเองว่า เมื่อใดที่ก้าวสู่ทีวีดิจิตอลจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ต้องแบกรับเพิ่ม อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องรับภาระการขอใบอนุญาต 3 ใบ เช่น การขอใบอนุญาตมาเป็น Pay TV ซึ่งจะทำให้รายได้จำนวนมหาศาลที่มาจากโฆษณาจากเดิมอยู่ที่ 12 นาทีต่อชั่วโมง เหลือเพียง 6 นาทีต่อชั่วโมง หรือจากเดิมช่อง 3 ที่ว่ากันว่ามีรายได้สูงถึงปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ย่อมไม่มีทางที่จะกลับมาทำรายได้สูงเท่าที่ผ่านมาได้ นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนเก่าอย่างสัมปทานเดิมกับช่อง 9 อีก 6 ปี ปีละ 150 ล้านบาท หรือรวมกว่า 900 ล้านบาท ที่ยังคงต้องจ่ายอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ช่อง 3 มองเป็นการสูญเสียหากจะก้าวสู่ทีวีดิจิตอลในเวลานี้”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่อง 3 ตีโจทย์แตกมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ใช้อีกบริษัทเพื่อเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลมาถึง 3 ช่อง และเป็นรายเดียวที่ประมูลมามากสุด และใช้เงินมากสุดในการประมูลที่สูงถึง 7 พันล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
ตามที่ นายสุรินทร์ กฤยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้กล่าวไว้ว่า บริษัทให้ความสำคัญต่อทีวีดิจิตอล เห็นจากจำนวนการประมูลช่องทีวีดิจิตอลที่สูงถึง 3 ช่อง และเม็ดเงินประมูลที่ใช้กว่า 7 พันล้านบาท แต่สำหรับช่อง 3 อะนาล็อก มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และอยู่ภายใต้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นคนละบริษัทที่ประมูลทีวีดิจิตอล จึงไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันหากจะต้องนำช่อง 3 ไปออกคู่ขนานในช่องที่ประมูลมา แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะอยู่ในเครือเดียวกัน
“ปัญหาของทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นล่าช้า ไม่ได้อยู่ที่ช่อง 3 ที่ยังคงออกอากาศในระบบอะนาล็อก หรือภาคพื้นดิน แม้ว่าฟรีทีวีที่ออกอากาศภาคพื้นดินจะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมหลักของประเทศก็ตาม แต่ในความเป็นจริงกว่า 70% ของผู้ชมทั้งประเทศสามารถรับชมช่อง 3 อะนาล็อก และช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องได้ทางเคเบิลทีวี และดาวเทียมอยู่แล้ว ซึ่งมีเพียง 30% เท่านั้นที่ไม่สามารถรับชมทีวีได้ ที่สำคัญช่อง 3 อยู่บนธุรกิจทีวีมานาน มีคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเร่งแผนในการเข้าไปอยู่บนทีวีดิจิตอล หากทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ไม่เกี่ยวกับการลงทุนว่าช้าหรือเร็ว แต่ขึ้นอยู่กับแนวทาง และความสามารถในการขายคอนเทนต์”
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าทีวีดิจิตอลทั้ง 3 ช่องที่บีอีซีประมูลมา ปีนี้แทบจะไม่มีการลงทุนอะไรเลย นอกจากเม็ดเงินการประมูล เพราะมองเห็นความล่าช้าในการเกิดของทีวีดิจิตอล โดยในปีแรกจะไม่เน้นการลงทุน เพียงประคองตัวให้อยู่ได้เท่านั้น จากเดิมในช่วงเดือน ต.ค.57 จะมีการนำเสนอรายการใหม่มากยิ่งขึ้น แต่หลังจากพบความล่าช้าในธุรกิจนี้ทำให้ต้องเลื่อนแผนออกไปเป็นต้นปี 2558 โดยจะมีการนำเสนอรายการใหม่ๆ ทั้ง 3 ช่อง คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของเวลาการออกอากาศตลอดทั้งวัน เช่น ช่อง 3SD จะเน้นรายการประเภทวาไรตี้ที่เป็นรายการฟอร์แมตจากต่างประเทศที่ซื้อมาไว้หลายรายการ ส่วนช่อง 3HD จะเน้นรายการประเภทกีฬาดังที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มา เช่น ฟุตบอลยูโร หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่จับมือกับ “ซีทีเอช” เป็นต้น โดยคาดหวังว่าสิ้นปี 58 รายได้จากกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลน่าจะทำได้ 10-15% เมื่อเทียบกับช่อง 3 อะนาล็อก จากที่ปีนี้มีรายได้ไม่ถึง 5%
จะเห็นว่าโอกาสในทีวีดิจิตอลยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน “เสือ” อย่างช่อง 3 จึงใจเย็นที่จะลงทุน แต่มุ่งกอบโกยรายได้จากช่อง 3 อะนาล็อกมากกว่า อย่างน้อยที่สุดก็ยื้อให้สุดเกมตามที่ช่อง 3 ได้ออกมาชี้แจงในกรณีไม่ขออนุญาตเป็น Pay TV ด้วยกัน 2 ข้อ โดยชี้ให้ทาง กสท. เห็นว่า ยังสามารถตัดสินดำเนินการได้ในหลายๆ ทาง เช่น การขยายเวลาบังคับใช้มติ หรือรอคำสั่งศาลปกครอง เป็นต้น ไม่ใช่บีบบังคับกัน
ยิ่งลงลึกยิ่งพบว่า เกมนี้ถูกวางหมากไว้อย่างดี โดยแหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ผลประโยชน์มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาทที่ช่อง 3 อะนาล็อกไม่ยอมปล่อยลงครั้งนี้ เป็นใครก็ไม่อยากสูญเสียรายได้นี้ไปแน่ หรือถ้าจะให้วิเคราะห์ มองว่า มี 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้ช่อง 3 เล่นแง่ยึดสัญญาสัมปทานไว้แน่น และยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นได้ช้าอีกด้วย นั่นคือ
1.สัญญา เริ่มตั้งแต่การทำสัญญากับทางช่อง 9 อสมท ตลอด 40 กว่าปีในนาม “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ที่ต่อมาโอนมาอยู่ในกลุ่ม “บีอีซี” ส่วนบริษัทที่ประมูลทีวีดิจิตอลคือ “บีอีซี มัลติมีเดีย” ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “บีอีซี” ถือเป็นข้ออ้างที่ทำให้ช่อง 3 ส่ายหน้ามาตลอดว่า ไม่สามารถออกคู่ขนานได้ เพราะไม่ใช่บริษัทเดียวกันที่ไปประมูล
2.กฎหมาย ตามที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับออกมาว่า ในระบบทีวีดิจิตอลช่องอะนาล็อกไม่สามารถออกอากาศได้เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ช่อง 3 นำมาอ้างต่อว่า คนอีก 10 ล้านคนจะทำอย่างไร ถ้าหากช่อง 3 อะนาล็อกไม่สามารถออกอากาศได้ โดยยึดเอาตามข้อแรกที่ว่า เป็นคนละบริษัทกันจะให้บริษัทที่ทำสัญญาสัมปทานกับช่อง 9 เอาช่อง 3 อะนาล็อกไปออกในทีวีดิจิตอลซึ่งใช้อีกบริษัทหนึ่งมาประมูลนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ
3.ตัวแปร ที่สำคัญมากอีกตัวคือ ช่อง 9 อสมท เจ้าของสัมปทานของช่อง 3 ในการออกในระบบอะนาล็อก เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ก่อนหน้านี้ทำไมช่อง 9 อสมท ถึงไม่ยอมรับการเจรจากับ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) เพื่อทำให้ระยะเวลาสัมปทานสั้นลง เช่นเดียวกับที่ช่อง 5 และช่อง 7 เลือกที่จะทำ ทั้งๆ ที่ค่าสัญญาสัมปทานที่ช่อง 9 อสมท ได้รับนั้นอยู่ที่ 150 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ช่อง 9 อสมท และช่อง 3 สามารถหาทางออกนี้ร่วมกันได้ โดยการแลกมัคส์กัน แต่กลับไม่มีใครทำอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ โดยยังเหลือเวลาอีก 6 ปี
4.แพลตฟอร์มการรับชม หลังจากที่ กสท. โยนความผิดมาให้ แต่ไม่ได้ออกกฎข้อบังคับออกมาให้ชัดเจน เมื่อเผือกร้อนมาอยู่ในมือเจ้าของแพลตฟอร์ม ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้เสียฐานสมาชิก จะให้เลือกช่อง 3 หรือฐานสมาชิกอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสมาชิกคือ รายได้หลัก ส่วนช่อง 3 คือคอนเทนต์หลักที่สมาชิกต้องการรับชมเช่นกัน
สุดท้ายกลุ่มเจ้าของแพลตฟอร์มจึงออกมายื่นหนังสือกดดัน กสท. ให้ทางหาทางออกเรื่องการออกอากาศช่อง 3 อะนาล็อก จะดีที่สุด ไม่ใช่มากดดันเจ้าของแพลตฟอร์มแทน
จากความยืดเยื้อ และต่างยึดในหลักการของตัวเอง ทำให้ปัญหาช่อง 3 อะนาล็อกยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะหาทางออกได้ ขณะที่แหล่งข่าวชี้แนวทางแก้ปัญหานี้ไว้ 3 ข้อ คือ
1.กสทช.ควรสวมบทเข้มทางกฎหมาย บังคับห้ามช่องรายการระบบอะนาล็อกออกอากาศทางเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม
2.เรียกเจ้าของทุกแพลตฟอร์มเข้ามาพูดคุยปรึกษาหาทางออกร่วมกัน
3.เรียกช่อง 9 อสมท และช่อง 3 เข้ามาหาทางออกร่วมกัน
สุดท้าย ความเด็ดขาดอยู่ที่ กสท. ว่าจะปิดเกมนี้ลงอย่างสวยงามทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งในตอนสุดท้ายเราอาจจะได้เห็น กสท. ยอมเลือกแก้ไข และลดความ “เยอะ” ลงไปด้วยการยอมอ่อนข้อเพื่อให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศได้ตามปกติเช่นที่ผ่านมาจนหมดสัมปทาน หรืออีกทางหนึ่งคือ กสท. เข้มออกข้อบังคับ และคำสั่งที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ นำไปปฏิบัติ ถือเป็นการบังคับทางอ้อมให้ช่อง 3 อะนาล็อกขึ้นมาออกอากาศคู่ขนานในระบบทีวีดิจิตอล
เรื่องนี้จะจบสวยหรือไม่ ? จึงขึ้นอยู่กับ กสท. ล้วนๆ !