xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้นแก้รธน.57เสร็จก่อน6ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมร่วม ครม.และคสช. มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว เพื่อให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบัญญัติให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 ซึ่งเท่าที่ฟังความเห็นของ คสช.และครม. แก้ไขเพียงจุดเดียว คือการทำประชามติเท่านั้น
ทั้งนี้ ตามกำหนด สปช. จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้ทำประชามติให้เสร็จก่อนเดือนสิงหาคม เพื่อให้มีกฎหมายรองรับก่อนที่ สปช.จะเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้ ครม.และคสช. กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อเสนอให้สนช. ซึ่งการพิจารณาของสนช. จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะต้องคำนวณเวลาเสร็จให้ทัน เนื่องจากสนช. มีเวลาในการพิจารณาเพียง 15 วัน โดย สนช.ไม่มีอำนาจขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ครม.หรือ คสช.ต้องเห็นด้วย
สำหรับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อการทำประชามติจะต้องคำนึงและให้คำตอบว่า จะดำเนินการ มีวิธีการ และหลักเกณฑ์อย่างไร และหลังผลของประชามติออกมา จะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร และถ้าประชามติไม่ผ่าน จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้น การทำประชามติจะต้องมีผลกระทบต่อโรดแมปแน่นอน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวเห็นว่า การทำประชามติต้องสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน
นอกจากนี้ หากประชามติไม่ผ่าน จะต้องคำนึงว่าทำอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่พอใจของประชาชนมากกว่าที่ไม่ผ่านประชามติ เพราะฉะนั้น การทำประชามติต้องกำหนดไว้มากกว่ารับ หรือไม่รับร่างเท่านั้น แต่ตนไม่อยากให้ความเห็นเพราะจะกลายเป็นการชี้นำ รอให้มีตุ๊กตาออกมาก่อน เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้น
เมื่อถามว่า ในฐานะที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เหตุใดจึงไม่ได้กำหนดเรื่องการทำประชามติ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่มีหลักประกันอะไรในการทำประชามติ เพราะที่ผ่านมาเราเคยทำประชามติในปี 50 แล้ว แต่อยู่ไม่นาน และก็ใช้ได้ไม่กี่ปี น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำประชามติ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับโรดแมปของ คสช. ถ้ากำหนดการทำประชามติ ก็อาจจะไปไกลกว่าโรดแมปเดิม ซึ่งเราก็ได้ระวังในจุดนี้ และคิดว่า หากรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจของประชาชนได้สะท้อนความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้ประมาท ก็ได้เปิดช่องไว้ใน มาตรา 46 ซึ่งก็ไม่เคยมี ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอื่น

** กกต.แนะประชามติประเด็นเดียว

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน (กกต.) กล่าวว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องของกฎหมายรองรับการทำประชามติไว้แล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนว่า สปช.จะมีความเห็นอย่างไรต่อร่างรธน. รวมทั้งการกำหนดประเด็นที่จะทำประชามติ ซึ่งมองว่าการทำประชามติโดยถามว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะง่ายกว่าการถามหลายประเด็นพร้อมกัน และยืนยันการทำประชามติ จะมีผลผูกพันกับรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับการเลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ผ่านมา แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องความคุ้มค่า เพราะการให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องเนื้อหามีความสำคัญกว่า และ จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แตกต่างจากเดิมอย่างไร
สำหรับความเห็นของ กกต. ในเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รวบรวมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว โดยกกต.ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่จะต้องใช้บัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ ใช้เวลานับคะแนนนาน และที่สำคัญหากมีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถนับคะแนนได้ ก็จะมีผลต่อการรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่ต้องนับรวมทั้งประเทศ อาจส่งผลต่อการเปิดประชุมสภานัดแรกด้วย รวมทั้งเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งที่ กกต.เสนอให้นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กกต. เสนอ เชื่อว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะรับฟังความเห็น ของกกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ และนำไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญใหม่
สำหรับหลักเกณฑ์การทำประชามติ อันดับแรกต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด และหากรับร่าง ก็จะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิ จะได้ถือว่าเป็นความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ หรือถ้าหากคะแนนออกมมาว่าไม่รับ ก็อาจดำเนินไปตามแนวทางที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ ส่วนการจะไปแก้ไขกฎหมายที่ไม่ใช่หลักเกณฑ์การทำประชามติดังที่กล่าวไปนั้น แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ไม่ควร เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเป็นที่ยอมรับในสากล
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้จะเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ คสช.ก็ได้มีประกาศให้ยกเว้นให้ พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่วนกรณี หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อกำหนดให้ทำประชามติ แต่พบว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อาจทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัดเวลาที่ปฏิบัติใช้จริง ก็เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะต้องนำกฎหมายลูกนี้ไปปรับแก้ไข ลดข้ออุปสรรค ส่วนกกต.นั้นเป็นองค์กรในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายมาให้ใช้อย่างไร ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่สามารถออกระเบียบของสำนักงานกกต. มาแก้ไขข้อจำกัดที่อาจเกิดในกฎหมายลูกได้ เนื่องจากระเบียบสำนักงานจะมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย

**พท.ดักคอทำประชามติยื้อเวลา

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปิดช่องให้มีการทำประชามติ ถือเป็นการลดกระแสกดดันของสังคม หลังจากที่มีเสียงเรียกร้องจำนวนมาก แต่เมื่อจะแก้ไขแล้ว ก็ควรแก้ในมาตราอื่นๆ ด้วย อาทิ ประเด็นที่หาก สปช. มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.ชุดปัจจุบันสิ้นสภาพ จากนั้นจึงตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการนั้น ขอให้แก้ไข ให้กระบวนการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนที่บัญญัติไว้ในขณะนี้ โดยอาจจะพิจารณาเลือกข้อดี ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 รวมทั้งร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ มาเป็นหลักในการจัดทำ
และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ จะต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน เช่น ตั้งกรรมาธิการยกร่างฯใหม่ หรือเลือกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 เป็นต้น อีกทั้งต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องการยื้อเวลาด้วย ซึ่งหากเขียนเช่นนี้ก็จะทำให้เห็นอนาคตของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากการที่ คสช.และครม. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อที่จะนำไปสู่การทำประชามตินั้น เป็นไปเพื่อแค่ลดกระแสกดดัน ไม่ได้ปรับแก้ส่วนอื่นด้วยเลยนั้น ก็จะกลายเป็นแค่เกมยื้อเวลา หากเจตนาต้องการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดี ได้ประชาธิปไตยกลับ คืนมาโดยเร็ว ต้องแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อความชัดเจนในเงื่อนไขเวลา และแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากสปช.ไม่เห็นชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น