xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ยอมรับมติ สนช.ไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.
ป.ป.ช. ยอมรับมติ สนช. ไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว. “วิชัย” ชี้การสิ้นไปของ รธน. 50 ไม่เป็นปัญหา “สนช.” เพียงพิจารณาว่า “อดีตสมาชิกวุฒิสภา” ที่ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือไม่ โดยไม่ติดค้างอยู่กับเขตอำนาจพิจารณา ซึ่งยุติไปแล้ว

วันนี้ (12 มี.ค.) นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติด้วยเสียงไม่ถึงสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของสภา ให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 38 คน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. น้อมรับมติดังกล่าว โดยชี้ว่า ตามพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 65 บัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอิสระในการออกเสียง

แม้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีมติด้วยเสียงไม่ถึงสามในห้าให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 38 คน ออกจากตำแหน่ง แต่กระบวนการขอให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 38 คน ออกจากตำแหน่ง ที่มีการดำเนินการมาแต่ต้น ก็เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตย คือ การยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือเป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลไกการถ่วงดุลและคานอำนาจเสียงข้างมากทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยตลอดแปดทศวรรษที่ผ่านมาแล้วคนไทยเข้าใจประชาธิปไตยด้านเดียว คือ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งหรือเสียงข้างมาก ส่วนการเหนี่ยวรั้งเสียงข้างมากไม่ให้ใช้อำนาจบาตรใหญ่และการคุ้มครองเสียงข้างน้อยให้มีที่อยู่ที่ยืนพอสมควร ซึ่งเป็นองค์ประกอบ ส่วนที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยเช่นกัน เกือบไม่ได้เข้าสู่การรับรู้ของคนไทย กระบวนการถอดถอนอย่างการขอให้ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งกรณีนี้จะให้การเรียนรู้แก่คนไทยในสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตย

ต่อคำถามว่า การสิ้นไปของรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลต่อการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามกฎหมายปัจจุบันต้องแยกกันระหว่าง “เขตอำนาจพิจารณา” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะวุฒิสภาอย่างหนึ่งกับเนื้อหาของกรณีกล่าวหาว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติรั ฐธรรมนูญโดยจงใจหรือไม่อีกอย่างหนึ่ง

“ข้อที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นผลไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะวุฒิสภาจะมีอำนาจพิจารณาหรือไม่ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับกรณีขอให้ถอดถอนทำนองนี้ไว้พิจารณาหลายกรณีแล้ว ปัญหาเรื่องเขตอำนาจพิจารณาจึงไม่มีอีกแล้ว การออกเสียง
ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะถอดถอนหรือไม่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาเพียงว่าอดีตสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือไม่ โดยไม่ติดค้างอยู่กับเขตอำนาจพิจารณาซึ่งยุติไปแล้ว” นายวิชัย ให้ความเห็น

นายวิชัย กล่าวต่อว่า มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ยืนยันถึงเขตอำนาจพิจารณาของสภาดังกล่าวนี้ บัดนี้มีคำพิพากษาฎีกาสนับสนุน คือ ฎีกาที่ อม.30/2557 ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง นางสาวนฤมล นนทะโชติ ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีการดำรงอยู่เป็นอิสระจากกัน แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปแล้ว อัยการสูงสุดผู้ร้องก็ยังสามารถอาศัยบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ จากมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคำพิพากษาฎีกานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยกกรณีกล่าวหาทำนองนี้ที่ค้างอยู่มาดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น