xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แถลงปิดคดีรับไม่รู้สึกผิดถอด 38 อดีต ส.ว. จำเลยย้ำชอบธรรม ชี้ชะตาพรุ่งนี้ 10 โมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.แถลงปิดคดีถอดอดีต 38 ส.ว. รับไม่รู้สึกผิด ย้ำลงมติร่าง รธน.คนละฉบับที่เสนอ ประโยชน์ทับซ้อน ดักอ้างนิติฯ ทำได้ ไม่ช่วยให้รอด ย้อนชาติวุ่นเกิดจากเสียงข้างมากไม่สนข้างน้อย อดีต ส.ว.โต้ข้อหาไม่ถูกหลัก 2 ป.ป.ช.มีปัญหา ฉะ มีอคติประชุมก่อนเรื่องจะถึงขัด กม. ยันมีร่างเดียวชอบธรรม ลงมติเอกสิทธิ์อุ้ม แถมรธน.50 ถูกฉีกความผิดยกเลิก ข้องใจมีดิสเครดิตทำเพื่อนบ้านไม่เชื่อใจ พรุ่งนี้ 10 โมง สนช.ลงมติลับ

วันนี้ (11 มี.ค.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการถอดถอนอดีต 38 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ โดยเป็นขั้นตอนการแถลงปิดสำนวนของคู่กรณี คือ ป.ป.ช. และอดีต 38 ส.ว. โดยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดสำนวนว่า การถอดถอนอดีต 38 ส.ว.นั้น ป.ป.ช.ไม่รู้สึกผิด หรือบาป เพราะกระบวนการพิจารณาของ ป.ป.ช.ได้ใคร่ครวญในทำนองเดียวกับการพิจารณาของศาล เป็นหลักประกันว่าผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกชี้มูลแน่นอน กรณีอดีต 38 ส.ว.เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. โดยพบว่าร่างรัฐธรรมนูญที่อดีต 38 ส.ว.ได้พิจารณาลงมติในวาระ 1-3 เป็นคนละฉบับกับร่างที่อดีต 38 ส.ว.เข้าชื่อเสนอร่วมกับนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ลงมติมีการแก้ไขหลักการสำคัญ ไม่ตรงกับร่างที่เข้าชื่อเสนอแก้ไข คือ มีการแถมมาตรา 6 ที่ให้อดีต ส.ว.สามารถลงสมัคร ส.ว.อีกสมัยได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค

นายวิชัยกล่าวว่า จากการไต่สวนของ ป.ป.ช.มีคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่มาให้การต่อ ป.ป.ช.ว่า มีผู้ช่วยของนายอุดมเดชนำร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาสับเปลี่ยนกับร่างเดิม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ลงมติเป็นการเสนอโดยผู้ช่วยของนายอุดมเดชคนเดียวเท่านั้นซึ่งไม่มีสิทธิขอยื่นแก้ไข เพราะผู้ที่จะเสนอขอแก้ไขได้ต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบว่า มีการเปลี่ยนร่างใหม่ แต่นำร่างฉบับใหม่มาใช้ลงมติแทนฉบับเดิม ส่วนที่อดีต 38 ส.ว.อ้างหลักกระบวนการทางนิติบัญญัติที่ให้สามารถนำร่างกฎหมายฉบับใหม่มาแทนฉบับเก่าได้ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมนั้น ไม่อยากพูดถึงหลักการนี้ ถ้าพูดจะเข้าตัวอดีต ส.ว.38 คน หลักกระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นคนละอย่างกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้จริงๆ แต่หลักกระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นแค่แนวทางการตีความเท่านั้น ไม่มีผลบังคับใช้ การอ้างหลักกระบวนการทางนิติบัญญัติไม่ช่วยให้พ้นผิด แต่เป็นการทำร้ายตัวเองมากกว่า สิ่งที่อดีต ส.ว.38 คนอ้างนั้นเป็นการเข้าใจผิดขั้นตอนเชิงรูปแบบ เมื่อเชิงรูปแบบผิดแล้วก็จะเสียไปทั้งหมด

“ประชาธิปไตยเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือเสียงข้างมาก แต่อีกด้านต้องไม่ละทิ้งเสียงข้างน้อย จึงต้องทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อยถูกข่มเหงโดยเสียงข้างมาก เหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศไทยจนถึงก่อนการเกิดเหตุรัฐประหารไม่ได้เกิดจากผู้ปกครองข่มเหงผู้ถูกปกครอง แต่เกิดจากเสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยถูกย่ำยี เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย การทุจริตจำนำข้าว ซึ่งกระบวนการถอดถอนถือเป็นการควบคุมเสียงข้างมาก ไม่ให้เสียงข้างมากลำพองใจ ทำให้เสียงข้างน้อยมีความอดกลั้น ดังนั้น การลงมติ สนช.ในวันพรุ่งนี้จะกดปุ่มใดก็เป็นดุลพินิจของ สนช. แต่ในฐานะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอให้พิจารณาสิ่งที่กราบเรียนมาทั้งหมดด้วย”

จากนั้นตัวแทนอดีต 38 ส.ว.ได้แถลงปิดคดี โดยนายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร แถลงว่า พวกเราทั้ง 38 ส.ว.ขอยืนยันว่าไม่เคยใช้อำนาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 แต่จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.นั้นไม่ชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของ ส.ว.ที่ว่าด้วยข้อกำหนดของผู้ร้องถอดถอนที่ต้องมีการลงชื่อ วันเวลา ผู้ร้องรวมถึงตำแหน่งขณะที่ยื่นถอดถอน การยื่นคำร้องของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตผู้นำฝ่ายค้านและพวกจึงไม่เป็นไปตามระเบียบของวุฒิสภา และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 61 และมาตรา 62 ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีปัญหา ทั้งกรณีของนายภักดี โพธิศิริ ที่ไม่ถือว่าเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เนื่องจากขาดคุณสมบัติ แต่กลับมาร่วมพิจารณาลงนามถอดถอน ส่วนนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ไปลงนามเอกสารเข้าร่วมประชุมสำนวนถอดถอนพวกตน ก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายวิชัยยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางเอกสารของฝ่ายธุรการ พร้อมอ้างว่าเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ตนมองว่าผิดเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นความผิด เพราะ ป.ป.ช.คือองค์กรสำคัญของชาติ ที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ข้าราชการและนักการเมือง

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 56 ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะยื่นคำร้องไปถึง ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 56 ก็ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า ทำไม ป.ป.ช.จึงประชุมกันก่อนล่วงหน้าได้ทั้งที่ยังไม่ได้รับเรื่อง จึงสรุปได้ว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรรมการ ป.ป.ช.ก็มีอคติ ไม่รอบคอบ พวกเราขอยืนยันว่าไม่เคยคิดล้มล้างการปกครองตามที่ถูกกล่าวหา เพราะพวกเราก็มาจากพลเรือน ตำรวจ ทหาร และข้าราชการ เหมือนสมาชิก สนช.ทุกคน

ด้านนายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม ชี้แจงว่า ร่างที่เข้าสู่การประชุมวาระ 1 รับหลักการ กับร่างที่ ส.ส.-ส.ว.308 คนร่วมกันเสนอตอนแรกนั้น ขอยืนยันว่ามีเพียงร่างเดียว เห็นได้จากการลงนามกำกับที่มีครั้งเดียวไม่ใช่สองครั้ง เป็นไปตามมาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทางฝ่ายเลขาขอวุฒิสภาก็ได้ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องทั้งหมด จากนั้นประธานรัฐสภาก็ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมซึ่งมีการเพิ่มจากครั้งที่นำเสนอ 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา ผู้เสนอกฎหมายดังกล่าวก็ได้อ่านหลักการนำเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาทุกคนให้ได้รับทราบว่าจะมีการแก้ไข 13 มาตรา ครอบคลุมในส่วนของที่มา ส.ว.ในมาตราใดบ้าง เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2553 ข้อ 36 และข้อ 86

ส่วนการลงมติทั้ง 3 วาระของสมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมก็ย่อมได้เอกสิทธิ์คุ้มครองการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่ไม่อาจนำไปฟ้องร้องได้ ตามมาตรา 130 ซึ่งดูเหมือนว่า ป.ป.ช.ยังไม่เข้าใจกระบวนการลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญอยู่ที่วาระ 3 ดังนั้นจึงขอยืนยันว่า เรามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดียวและดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่มีตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ไว้ ขณะที่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.มายัง สนช.เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 57 ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะเห็นได้ว่า คสช.ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนนั้นแล้ว กระบวนการกล่าวหาบุคคลว่ามีความผิดจะต้องยึดกฎหมายยึดรัฐธรรมนูญ พวกเราก็ทำหน้าที่ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ อีกทั้งเมื่อบทลงโทษตายไปแล้ว สำนวนชี้มูลความผิดทั้งหมดก็ต้องยกเลิกไปด้วย

“นอกจากนี้ ในวันที่ 31 ธ.ค. 58 ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งรัฐสภาไทยเราเป็นสมาชิกสมัชชาสหภาพรัฐสภาอาเซียน แต่หากฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี แต่ ป.ป.ช.กลับมาทำอย่างนี้ ประเทศเพื่อนบ้านจะเชื่อใจเราได้อย่างไร ไม่แน่ใจว่ากระบวนการถอดถอนมีประสงค์ดีหรือประสงค์ร้าย มีความพยายามดิสเครดิตฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าสมาชิก สนช.ก็ยังมีความเป็นธรรมอยู่”

ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี แถลงปิดท้าย 4 ประเด็น ว่า 1. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมาย ประธานรัฐสภายังไม่ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุม สามารถแก้ไขได้ สามารถทำได้ตามประเพณีปฏิบัติ 2. การร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกตนก็เป็นไปอย่างชอบธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ไว้ ทั้งยังเป็นหนึ่งในแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งก็เคยดำเนินการในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แก้ไขในส่วนของ ส.ส. นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรา 130 คุ้มครองเอกสิทธิ์การทำหน้าที่ของพวกเราอย่างชัดเจน สอดคล้องกับโพลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะ ส.ว.มีอำนาจมาก ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้คำแนะนำว่าไม่ควรแก้ทั้งฉบับ แต่ควรแก้เป็นรายมาตรา เราก็ทำตาม

นายดิเรกกล่าวว่า 3. เรามีอำนาจหน้าที่โดยในการแก้ไข กลั่นกรองกฎหมาย การแก้รัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งเรายังไม่ได้รู้ผลเลยว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้งประชาชนจะรับเลือกเรากลับมา ข้อกล่าวหานี้จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด 4. เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัย และเมื่อดูตามมาตรา 216 ที่กำหนดว่าคำวินิจฉัยศาลผูกพันทุกองค์กร เมื่อศาลสั่งยุติการวินิจฉัยแล้วก็ต้องผูกพันกับรัฐสภาด้วย

จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ได้ชี้แจงต่อสมาชิกว่าจะมีการลงมติถอดถอนในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. โดยขั้นตอนการลงมติจะเหมือนกับการลงมติถอดถอนที่เคยผ่านมา คือลงมติแบบลับในคูหา โดยผู้ทำหน้าที่เลขาฯ ในที่ประชุม จะขานชื่อสมาชิกเพื่อรับบัตรแล้วเข้าคูหา ซึ่งในกรณีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 38 คน จึงออกแบบบัตรลงคะแนนเป็น 4 สี แยกตามกลุ่มฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไว้ โดยกลุ่มบัตรสีส้ม แรกมี 22 คน กลุ่ม 2 บัตรสีขาว มี 13 คน กลุ่ม 3 บัตรสีฟ้า มี 2 คน และกลุ่ม 4 บัตรสีเขียว มี 1 คน และให้ลงคะแนนคราวเดียว คาดว่าขั้นตอนการลงมติถอดถอนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช.กล่าวว่า การลงมติจะให้มีการลงมติเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการลงมติเช่นนี้ต้องเกิดคำถามตามมาว่าหากมีการลงมติถอดถอนบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ลงมติถอดถอนอีกบุคคลหนึ่งจะใช้มาตรฐานอะไรมาตัดสินทั้งที่มีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมวิป สนช.เห็นว่าอยากให้มีการลงมติเป็นกลุ่ม แต่ตามกฎหมายไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องลงมติเป็นรายบุคคล












กำลังโหลดความคิดเห็น