xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ปิดเกมสอดไส้ร่างแก้ไขรธน. สนช.โหวตถอดถอน38ส.ว.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (11มี.ค.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาดำเนินการถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ โดยเป็นขั้นตอนการแถลงปิดสำนวนของคู่กรณี คือ ป.ป.ช. และอดีต 38 ส.ว. โดยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. แถลงปิดสำนวน ว่า การถอดถอนอดีต 38 ส.ว. เนื่องจากใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่อดีต 38 ส.ว.ได้พิจารณาลงมติในวาระ 1-3 เป็นคนละฉบับ กับร่างที่ อดีต 38 ส.ว. เข้าชื่อเสนอร่วมกับ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ลงมติ มีการแก้ไขหลักการสำคัญ ไม่ตรงกับร่างที่เข้าชื่อเสนอแก้ไข คือ มีการแถม มาตรา 6 ที่ให้อดีต ส.ว. สามารถลงสมัคร ส.ว.อีกสมัยได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค
นายวิชัย กล่าวว่า จากการไต่สวนของป.ป.ช. มีคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐสภา ที่มาให้การต่อ ป.ป.ช.ว่า มีผู้ช่วยของนายอุดมเดช นำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มาสับเปลี่ยนกับร่างเดิม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยไม่ชอบ ถือว่า ครบองค์ประกอบความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพราะร่างที่ใช้ลงมติ เป็นการเสนอโดยผู้ช่วยของนายอุดมเดช คนเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่มีสิทธิขอยื่นแก้ไข เพราะผู้ที่จะเสนอขอแก้ไขได้ ต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบว่ามีการเปลี่ยนร่างใหม่ แต่นำร่างฉบับใหม่มาใช้ลงมติแทนฉบับเดิม
ส่วนที่อดีต 38 ส.ว. อ้างหลักกระบวนการทางนิติบัญญัติ ที่ให้สามารถนำร่างกฎหมายฉบับใหม่มาแทนฉบับเก่าได้ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมนั้น ไม่อยากพูดถึงหลักการนี้ ถ้าพูดจะเข้าตัวอดีต ส.ว. 38 คน หลักกระบวนการทางนิติบัญญัติ เป็นคนละอย่างกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่มีผลบังคับใช้จริงๆ แต่หลักกระบวนการทางนิติบัญญัติ เป็นแค่แนวทางการตีความเท่านั้น ไม่มีผลบังคับใช้ การอ้างหลักกระบวนการทางนิติบัญญัติไม่ช่วยให้พ้นผิด แต่เป็นการทำร้ายตัวเองมากกว่า สิ่งที่อดีต ส.ว. 38 คน อ้างนั้น เป็นการเข้าใจผิดขั้นตอนเชิงรูปแบบ เมื่อเชิงรูปแบบผิดแล้ว ก็จะเสียไปทั้งหมด
" ประชาธิปไตยเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือเสียงข้างมาก แต่อีกด้านต้องไม่ละทิ้งเสียงข้างน้อย จึงต้องทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อยถูกข่มเหงโดยเสียงข้างมาก เหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศไทย จนถึงก่อนการเกิดเหตุรัฐประหาร ไม่ได้เกิดจากผู้ปกครองข่มเหงผู้ถูกปกครอง แต่เกิดจากเสียงข้างมากไม่ฟังเสียข้างน้อย เสียงข้างน้อยถูกย่ำยี เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย การทุจริตจำนำข้าว ซึ่งกระบวนการถอดถอน ถือเป็นการควบคุมเสียงข้างมาก ไม่ให้เสียงข้างมากลำพองใจ ทำให้เสียงข้างน้อยมีความอดกลั้น ดังนั้นการลงมติ สนช.ในวันนี้ (12มี.ค.) จะกดปุ่มใด ก็เป็นดุลยพินิจของ สนช. แต่ในฐานะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้พิจารณาสิ่งที่กราบเรียนมาทั้งหมดด้วย" นายวิชัย กล่าว

** 38 ส.ว.ยืนกรานไม่ขัดรธน.

จากนั้นตัวแทนอดีต 38 ส.ว. ได้แถลงปิดคดี โดย นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร แถลงยืนยันว่า ไม่เคยใช้อำนาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งข้อกล่าวหาของป.ป.ช. นั้น ไม่ชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของ ส.ว. ที่ว่าด้วยข้อกำหนดของผู้ร้องถอดถอน ที่ต้องมีการลงชื่อ วัน เวลา ผู้ร้อง รวมถึงตำแหน่งขณะที่ยื่นถอดถอน การยื่นคำร้องของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตผู้นำฝ่ายค้าน และพวก จึงไม่เป็นไปตามระเบียบของวุฒิสภา และ พ.ร.บ.ว่ าด้วยป.ป.ช. มาตรา 61 และมาตรา 62 ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีปัญหา ทั้งกรณีของ นายภักดี โพธิศิริ ที่ไม่ถือว่าเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เนื่องจากขาดคุณสมบัติ แต่กลับมาร่วมพิจารณาลงนามถอดถอน ส่วน นางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ไปลงนามเอกสารเข้าร่วมประชุมสำนวนถอดถอนพวกตน ก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายวิชัย ก็ได้ยอมรับว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางเอกสารของฝ่ายธุรการ พร้อมอ้างว่าเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ตนมองว่าผิดเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นความผิด เพราะ ป.ป.ช. คือองค์กรสำคัญของชาติ ที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ข้าราชการและนักการเมือง
นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังมีการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 56 ก่อนที่ประธานวุฒิสภา จะยื่นคำร้องไปถึงป.ป.ช. เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 56 ก็ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า ทำไมป.ป.ช.จึงประชุมกันก่อนล่วงหน้าได้ทั้งที่ยังไม่ได้รับเรื่อง จึงสรุปได้ว่า กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรรมการป.ป.ช. ก็มีอคติ ไม่รอบคอบ ซึ่งพวกเราขอยืนยันว่า ไม่เคยคิดล้มล้างการปกครองตามที่ถูกกล่าวหา เพราะพวกเราก็มาจากพลเรือน ตำรวจ ทหาร และข้าราชการ เหมือนสมาชิกสนช. ทุกคน
ด้านนายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม ชี้แจงว่า ร่างที่เข้าสู่การประชุม วาระ 1 รับหลักการ กับ ร่างที่ ส.ส. - ส.ว. 308 ร่วมกันเสนอตอนแรกนั้น ขอยืนยันว่า มีเพียงร่างเดียว เห็นได้จากการลงนามกำกับที่มีครั้งเดียว ไม่ใช่สองครั้ง เป็นไปตาม มาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทางฝ่ายเลขาขอวุฒิสภา ก็ได้ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องทั้งหมด จากนั้นประธานรัฐสภา ก็ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งมีการเพิ่มจากครั้งที่นำเสนอ 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา ซึ่งผู้เสนอกฎหมายดังกล่าว ก็ได้อ่านหลักการนำเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาทุกคนให้ได้รับทราบว่า จะมีการแก้ไข 13 มาตรา ครอบคลุมในส่วนของที่มา ส.ว. ในมาตราใดบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2553 ข้อ 36 และข้อ 86
ส่วนการลงมติทั้ง 3 วาระ ของสมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ก็ย่อมได้เอกสิทธิ์คุ้มครองการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่ไม่อาจนำไปฟ้องร้องได้ ตาม มาตรา 130 ซึ่งดูเหมือนว่า ป.ป.ช. ยังไม่เข้าใจกระบวนการลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีความสำคัญอยู่ที่ วาระ 3 ดังนั้น จึงขอยืนยันว่า เรามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดียว และดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ที่มีตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ไว้
ขณะที่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. มายัง สนช. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 57 ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะเห็นได้ว่า คสช.ได้ประกาศยกเลิก รธน. 2550 ไปก่อนนั้นแล้ว กระบวนการกล่าวหาบุคคลว่ามีความผิด จะต้องยึดกฎหมายยึดรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเราก็ทำหน้าที่ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ อีกทั้งเมื่อบทลงโทษตายไปแล้ว สำนวนชี้มูลความผิดทั้งหมดก็ต้องยกเลิกไปด้วย
"นอกจากนี้ ในวันที่ 31 ธ.ค. 58 ประเทศไทย จะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งรัฐสภาไทยเราเป็นสมาชิกสมัชชาสหภาพรัฐสภาอาเซียน แต่หากฝ่ายนิติบัญญัติ ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี แต่ ป.ป.ช.กลับมาทำอย่างนี้ ประเทศเพื่อนบ้านจะเชื่อใจเราได้อย่างไร ไม่แน่ใจว่า กระบวนการถอดถอน มีประสงค์ดีหรือประสงค์ร้าย มีความพยายามดิสเครดิตฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าสมาชิกสนช.ก็ยังมีความเป็นธรรมอยู่”
ขณะที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี แถลงปิดท้าย 4 ประเด็น ว่า 1. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมาย ประธานรัฐสภายังไม่ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุม สามารถแก้ไขได้ สามารถทำได้ตามประเพณีปฏิบัติที่ 2. การร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกตน ก็เป็นไปอย่างชอบธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้ไว้ ทั้งยังเป็น 1 ในแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เคยดำเนินการในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แก้ไขในส่วนของ ส.ส. นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรา 130 คุ้มครองเอกสิทธิ์การทำหน้าที่ของพวกเราอย่างชัดเจน สอดคล้อง กับโพลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะ ส.ว. มีอำนาจมาก ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้คำแนะนำว่าไม่ควรแก้ทั้งฉบับ แต่ควรแก้เป็นรายมาตรา เราก็ทำตาม
3.เรามีอำนาจหน้าที่โดยในการแก้ไข กลั่นกรอง กฎหมาย การแก้รัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งเรายังไม่ได้รู้ผลเลยว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้ง ประชาชนจะรับเลือกเรากลับมา ข้อกล่าวหานี้ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
4. เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัย และเมื่อดูตามมาตรา 216 ที่กำหนดว่า คำวินิจฉัยศาลผูกพันทุกองค์กร เมื่อศาลสั่งยุติการวินิจฉัยแล้ว ก็ต้องผูกพันกับรัฐสภาด้วย

** สนช.นัดโหวตถอดถอนวันนี้

จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ได้ชี้แจงกับสมาชิกว่า จะมีการลงมติถอดถอนในวันนี้ (12 มี.ค.) เวลา 10.00 น. โดยขั้นตอนการลงมติ จะเหมือนกับการลงมติถอดถอนที่เคยผ่านมา คือ ลงมติแบบลับในคูหา โดยผู้ทำหน้าที่เลขาฯ ในที่ประชุม จะขานชื่อสมาชิกเพื่อรับบัตรแล้วเข้าคูหา ซึ่งในกรณีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 38 คน จึงออกแบบบัตรลงคะแนนเป็น 4 สี แยกตามกลุ่มฐานความผิดที่ป.ป.ช. ชี้มูลไว้ โดยกลุ่ม บัตรสีส้ม แรกมี 22 คน กลุ่ม 2 บัตรสีขาว มี 13 คน กลุ่ม 3 บัตรสีฟ้า มี 2 คน และ กลุ่ม 4 บัตรสีเขียว มี 1 คน และให้ลงคะแนนคราวเดียว ซึ่งคาดว่า ขั้นตอนการลงมติถอดถอน จะใช้เวลาประมาณ 3 ชม.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก วิป สนช. กล่าวว่า การลงมติจะให้มีการลงมติเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการลงมติเช่นนี้ ต้องเกิดคำถามตามมาว่า หากมีการลงมติถอดถอนบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ลงมติถอดถอนอีกบุคคลหนึ่ง จะใช้มาตรฐานอะไรมาตัดสิน ทั้งที่มีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมวิป สนช. เห็นว่า อยากให้มีการลงมติเป็นกลุ่ม แต่ตามกฎหมายไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องลงมติเป็นรายบุคคล

**"เหวง" โร่ร้องศาลปค.เบรกถอดถอน

ในวันเดียวกันนี้ (11 มี.ค.) นพ.เหวง โตจิราการ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 465/2556 ลงวันที่ 12 ธ.ค. 56 ที่ให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี อดีต ส.ส. 250 คน ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนญ 2550 มาตรา 270 ที่มาของส.ว. เพื่อพิจารณาถอดถอน และขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องถอดถอนอดีต ส.ส. 250 คน ออกจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) และระหว่างพิจารณาคดีขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งให้ ป.ป.ช.ระงับการไต่สวนดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ นพ.เหวง ให้เหตุผลว่า การดำเนินการของป.ป.ช. ไม่ชอบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.57 มีพ.ร.ฎ.ยุบสภา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของตน และผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว อีกทั้งประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
ดังนั้น การที่ ป.ปช. ดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย นิติธรรม ขัดต่อคำสั่ง คสช. จึงขอให้ศาลปกครอง ยกเลิกคำสั่งของ ป.ป.ช. ตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องฟ้องตนและพวก เรื่องการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของส.ว. โดยกล่าวหาว่าใช้เอกสารปลอม และทำลายระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง ตนเห็นว่าการทำงานของป.ป.ช. มีข้อพิรุธ เนื่องจากมีการถอนคำฟ้องที่ใช้เอกสารปลอม และยื่นฟ้องเพียงข้อกล่าวหาว่า ล้มระบอบการปกครองประชาธิปไตย เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น