xs
xsm
sm
md
lg

แขวนมาตรา “แม่น้ำ 5 สาย” เว้นวรรคการเมือง 2 ปี ถกลับ 6 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

  นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
แขวนมาตรา “แม่น้ำ 5 สาย” เว้นวรรคการเมือง 2 ปี ถกลับ 6 มี.ค. นี้ ล่าสุด มี รธน. 315 มาตรา ย้ำได้ ส.ส. ครบ ใน 6 เดือน - ส.ว. 8 เดือน เมินเสียงค้านควบรวม “ผู้ตรวจฯ - กสม.”



วันนี้ (5 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างฯ บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประมาณ 10 กว่ามาตรา โดยก่อนที่ตนจะมาแถลงข่าวนั้นที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วประมาณ 9 มาตรา ทั้งนี้ บทเฉพาะกาลนั้นจะเริ่มตั้งแต่มาตรา 304 ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งสิ้นประมาณ 315 มาตรา โดยมาตรา 304 นั้น จะเป็นการรับรองสถานภาพของคณะองคมนตรี มาตรา 305 เป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. ซึ่งจะเป็นเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่มาตรา 306 ที่ให้ สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเลือกตั้งถัดไปครั้งแรก และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี นับแต่พ้นตำแหน่งนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณากันในวันที่ 6 มี.ค.

ส่วน มาตรา 307 จะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการยกร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ. ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 295 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 จะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก และบัญญัติให้มีกระบวนการให้ได้มา ซึ่ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นครั้งแรกขึ้น มาตรา 309 จะเป็นการรับรอง ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 298 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 310 จะเป็นการรองรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 299 300 และ 301 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 311 ที่จะเป็นการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ขณะนี้เหลือที่ยังค้างพิจารณาอีก 2 - 3 มาตรา และประเด็นที่รอการพิจารณาอีก 2 - 3 ประเด็น ซึ่งจะนำมาประชุมในวันที่ 6 มี.ค. เป็นการภายใน

“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งส่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับ สนช. โดย สนช. จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วัน ว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินการเลือกตั้งส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 180 วัน จึงจะมี ส.ส. ชุดใหม่ ขณะที่ ส.ว. ชุดใหม่จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน อย่างไรก็ตาม หาก สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันกำหนด ให้ถือเสมือนว่า สนช. ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว” โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

กรณีการระบุว่า จะได้ ส.ส. ชุดใหม่ภายใน 180 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น มีการคำนวณถึงเวลาการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่ได้คำนวณว่าต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มี.ค. กรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 ที่กำหนดให้สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี

สำหรับข้อเสนอของ นายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้น จะนำไปหารือในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย รวมทั้งจะพูดคุยถึงเรื่องการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วด้วย อาทิ กรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะต้องอยู่เพื่อผลักดันกลไกการปฏิรูปประเทศ สนช.ที่โดยหลักการแล้วควรจะอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่เข้ามา และ ครม. ที่ต้องอยู่จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่


กำลังโหลดความคิดเห็น