อดีต กกต. เห็นด้วยแนวคิดประเมินผลรัฐธรรมนูญทุก 5 ปี ลดอุปสรรคการใช้ ไม่ต้องอึดอัดจนต้องยึดอำนาจอีก ตำหนิสเปก ส.ว. ต้องเป็นอดีตปลัด - ข้าราชกสน เพราะคนมีความสามารถไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ อีกด้านตั้ง 11 องค์กร เปิดช่องสืบทอดอำนาจ เตือนระวังขัดแย้งระหว่างองค์กร
วันนี้ (18 มี.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมใช้อภิปราย ว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาทำหน้าที่ประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกๆ 5 ปี นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในรัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะระบุว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่พอในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งตามมา
ทั้งนี้ การที่มีคณะกรรมการมาทำหน้าที่ประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทุกระยะนั้น น่าจะช่วยลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ เป็นการปรับปรุงกฎหมายสูงสุดเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญนี้กลายเป็นฉบับสุดท้าย ไม่ต้องมีการฉีก หรือยึดอำนาจอีก คนที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จะไม่อึดอัด รวมทั้งการที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ หรือถ้าทำประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติที่มีอยู่นี้ การที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านคงเป็นเรื่องที่ยาก จึงเชื่อว่าคงไม่มีการทำประชามติแต่อย่างใด ดังนั้นการมีคณะกรรมการดังกล่าวคงสามารถเป็นทางออกที่ดี
นางสดศรี กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีการระบุในร่างรัฐธรรมนูญว่าให้มาจากอดีตปลัดกระทรวงหรือข้าราชการ ข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญไม่ควรกำหนดที่มาของ ส.ว. ไว้เช่นนี้ เพราะผู้มีความรู้ความสามารถไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตข้าราชการ ปราชญ์ชาวบ้านเก่งๆ ก็สามารถทำหน้าที่เป็น ส.ว. ได้ ไม่ควรเขียนที่มาแบบล็อคสเปกเช่นนี้ บทบัญญัติใดที่เขียนแล้วจะทำให้เกิดการตีความได้หลากหลายเกินไปนั้น ก็ควรพิจารณาแก้ไขใหม่ เพราะโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรไปเน้นที่ภาคข้าราชการ แต่ควรจะเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นางสดศรี ยังกล่าวถึงการตั้งองค์กรใหม่ 11 องค์กร ว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะฉบับใด ไม่ควรจะเขียนให้มีลักษณะเป็นการสืบทอดอำนาจไว้ ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เอง ก็เคยเขียนปิดกั้นไม่ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น แต่การที่มาระบุให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในปัจจุบันนี้ สามารถมีตำแหน่งต่อไปหลังจากที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะไปทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนหรือสภาใด ก็ดูมีลักษณะเป็นการสืบทอดอำนาจ ชงเองกินเอง และจะทำให้เกิดข้อครหาตามมาว่าแท้จริงแล้วคนพวกนี้ไม่ได้เสียสละเข้ามาช่วยประเทศชาติ แต่จะเข้ามาสืบทอดอำนาจเพื่อหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง
“การตั้งองค์กรขึ้นมาเยอะอาจทำให้องค์กรเหล่านั้นทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันเอง อย่างการตั้ง กจต. มาจัดการเลือกตั้ง แล้วให้ กกต. ทำหน้าที่ควบคุมแทนนั้น เชื่อว่าเวลาทำงานจริงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรอย่างแน่นอน บางทีการที่คิดว่าสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสมดุล แต่อาจเป็นการแย่งอำนาจระหว่างกันก็เป็นได้” อดีต กกต. กล่าว