xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ต้องแยกระบอบทักษิณออกมาแล้วทำลายทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถาม- ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะครบรอบ1 ปี การทำรัฐประหาร ของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองภาพ 1 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
ผมมองว่า คสช. เขาประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เรียกว่าโรดแมป ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ ปีครึ่งบวกลบ เมื่อเขาทำมาได้ 1 ปี เราก็ต้องเข้าใจว่า เป้าหมายที่เขาทำ สุดท้ายอย่างไรมันก็ยังไม่เสร็จ และไม่ว่าเราจะประเมินเขาอย่างไร สุดท้ายประวัติศาสตร์ก็จะตัดสินคสช. ที่ผล คือปลายทางว่า เมื่ออกไปแล้วการเมืองมันจะดีขึ้นหรือไม่ การปฏิรูปเริ่มขึ้นหรือยัง และผมเชื่อว่าไม่มีใครเคยคิดว่า ใน1 ปีทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเราคิดในกรอบนี้ ก็ต้องบอกว่าผ่านมา 1 ปีเขาก็เดินตามกรอบเวลาอยู่ ฉะนั้นตอนนี้รัฐธรรมนูญร่างแรกกำลังจะถูกเวียนไปให้แม่น้ำ 5 สายพิจารณา และไม่มีอะไรที่แสดงเจตนาว่า เขาจะไม่ยึดตามกรอบเวลาที่วางไว้ งานปฏิรูปในส่วนที่เกี่ยวกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เพิ่งจะได้เสนอออกมา แต่เรายังตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏในรายงานเหล่านี้ สุดท้ายมันจะได้ใช้เมื่อไหร่ โดยใคร หรือไม่ เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเห็นเขาทำเรื่องสังคมผู้สูงวัย เรื่องท้องถิ่น ซึ่งหลักการหรือแนวทางที่เสนอ ค่อนข้างดี แต่ลำพังตัวรายงานมันไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะมันอยู่ที่คนที่มีอำนาจจะเอาตัวนี้ไปทำกฏหมายแค่ไหน อย่างไร
แต่พอเรามองเรื่องสิ่งที่เขาทำเองโดยไม่เกี่ยวกับ สปช. ก็ต้องยอมรับว่า มาถึงวันนี้บางเรื่องมันเหมือนกับอ่อนแรงลงไปอย่างชัดเจน เช่นภาษีมรดก เดิมพูดว่าจะเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ ภาษีที่ดิน พอมาเจอความสับสนว่าต้องการทำอะไร โดยเฉพาะเรื่องต้องการจะหารายได้ หรือการไม่คิดให้รอบคอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนที่ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หรือการเกษตร จนกลายเป็นต้องถูกเลื่อนออกไป นอกจากนี้การบริหารเศรษฐกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เลยทำให้บางเรื่องที่ต้องปฏิรูป หรือเป็นเรื่องยากๆ ที่ต้องขัดใจคนยิ่งทำได้ยากขึ้น
ผมคิดว่าเมื่อครบ1 ปีแล้ว ทางคสช. ควรจะมาทบทวนอะไรบ้างที่ตัวเองจะต้องปรับในเชิงยุทธศาตร์ ความคิด ผมเชื่อว่าหัวหน้า คสช.ก็คงจะรู้ว่า หลายเรื่องมันยากขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไป ความท้าทายซับซ้อนหลายเรื่องที่รอคอยให้จัดการ

ถาม - เรื่องภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดก รัฐบาลชุดนี้พูดเสมอว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่แล้วตนเองก็เกิดไม่ได้เหมือนกันมองอย่างไร

ผมยืนยันว่าไม่จริง รัฐบาลผมก็ผ่านภาษีที่ดินไปแล้ว มีการให้ข้อเสนอแนะไปหมดทุกด้าน ระบบสวัสดิการหลายอย่างในรัฐบาลเลือกตั้งเขาก็ทำได้ รัฐบาลเราแทบจะเป็นรัฐบาลเดียวที่ส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง มากกว่าส่งเสริมให้คนกู้ ระบบของการนำเอาการแก้ปัญหาที่จะให้คนเข้ามามีส่วนร่วมหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องโฉนดชุมชน ก็เป็นหลักการที่เริ่มโดยเรา เพียงแต่มันยังทำไม่สำเร็จ และขาดความต่อเนื่อง แต่รัฐบาลนี้อยู่ในฐานะที่ดีกว่าในแง่ที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องคะแนนเสียง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ง่ายหาก หากไม่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แน่วแน่ และการบริหารที่ดี บางเรื่องผมเห็นตั้งแต่แรกว่า ไม่น่าจะรีบตัดสินใจ เช่นตอนเข้ามาใหม่ๆ ฟันธงไปเลยว่า VAT ต้องขึ้น 10% แต่มาวันนี้คงถอยแล้ว แต่ผมตั้งคำถามไปว่า ทำไมรีบฟันธงขึ้นจาก7% เป็น 10% ทำไมไม่ดูว่านิติบุคคลต้องลดจาก 30% เป็น 20% หรือเปล่า ผมก็ยังยืนยันว่า ต้องกลับขึ้นที่ 23% หรือ 25% ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายเลย คนที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลจำนวนมาก ไม่ได้มีอะไรคืนกลับมาให้สังคมเลย เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาม หรือพลังงาน เสียภาษีนิติบุคคลลดลง แต่ไม่ได้กระตุ้นการลงทุน หรือมีการส่งต่อทำให้ต้นทุนบริการถูกลงเลย
ผมมีความรู้สึกว่า บางทีรัฐบาลไปเล่นกับวาทะกรรมเกี่ยวกับ รัฐบาล นักการเมืองมากเกินไป ถ้าบริหารจัดการให้ดี มันขับเคลื่อนได้ แต่เวลานี้จะมาติดกับ กับวาทกรรมตรงนี้ กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดวันนี้อย่างไรก็ไม่ยั่งยืน ถ้าวันข้างหน้านักการเมืองเข้ามารื้อ แทนที่จะแสวงหาแนวร่วมกับนักการเมืองและสังคม ว่า นี่ถือการปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อให้การสนับสนุนอย่างนั้นจะยั่งยืน เพราะถ้าสามารถทำให้สังคมยอมรับ และมาเรียกร้องกับพรรคการเมืองว่า จะต้องทำต่อไป มันก็จะไปได้
ถาม- อะไรที่ทำให้รัฐบาลไม่คิดทำ หรือเจตนาไม่ทำโดยเอาเรื่องภาษีมาอ้าง ทำให้คนกลัว

ผมว่า หนึ่งไปกังวลเรื่องของรายได้และเปลี่ยนวัตถุประสงค์อยากเอาตรงนี้มาหารายได้เพิ่ม สอง นโยบายบางเรื่อง เช่น โฉนดชุมชนฟังนายกฯ พูดเรื่องแก้ปัญหาที่ทำกินหลายครั้ง สิ่งที่บอกว่าเป็นวิธีคิดของท่านมันก็คือ โฉนดชุมชน แต่ไม่อยากจะสานต่อตรงนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ผมไม่ทราบ เลยทำให้ไม่เอาเรื่องนี้กลับเข้ามาอีก แล้วมาโยงกับภาษีที่ดิน มันจึงเป็นเรื่องของกับดักว่า ถ้าไปรับรองอะไรที่นักการเมืองทำไว้ กลัวว่าเลือกข้างไม่เป็นกลาง เพราะเคยพูดเอาไว้เยอะว่า อะไรที่เกี่ยวกับนักการเมือง มันไม่ดี ก็เลยกลัวจะติดความไม่ดีของนักการเมืองไปด้วย
สิ่งที่จะเป็นปัญหา และย้อนกลับมาและเป็นปมที่แก้ยากขึ้นทุกวันคือ พอยิ่งติดกับดักตรงนี้ ก็จะยิ่งเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำจะไม่ยั่งยืน ก็คิดหาวิธีการบังคับโดยการออกรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายให้มันต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูปที่ยั่งยืนเลย

ถาม- จากการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำให้สังคมเริ่มมองว่า กำลังจะกลับไปสู่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ผมไม่ขอพูดถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ เพราะไม่ได้อยู่ในยุคนั้น แต่แนวคิดที่จะถอยระบบไปสู่ยุค พล.อ.เปรม มันมี ซึ่งผมยืนยันว่า แนวคิดนี้มันไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ยุคนั้นเป็นยุคที่มีความเสถียรภาพ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นต้นของประเทศโดยมีพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง และถ้ามีผู้นำที่ซื่อสัตย์ ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้บ้าง แต่ยุคนี้เศรษฐกิจกับสังคม มันผ่านขั้นตอนการพัฒนานั้นมาแล้ว และจะถูกตั้งคำถามเรื่องการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเดียวที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้ มันหนีไม่พ้นระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้ามวันนี้ ถ้าเราอยากให้ระบบการเมืองจัดการสิ่งท้าทายใหม่ๆได้ ดีที่สุดคือทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และประชาชนรู้เท่าทันข้อมูล นั่นคือมรดกที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ได้ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไปตั้งโจทย์อีกแบบ เขากลับไปกลัวว่า ถ้าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือทุกพรรคเข้มแข็ง ปัญหาจะมีมากขึ้น โดยไม่มีการแยกแยะว่า พรรคการเมืองที่เข้มแข็งจะต้องทำหน้าที่เอาความต้องการของประชาชนมาแปลงเป็นนโยบาย โดยไม่แยกแยะว่า นักการเมืองที่มาทำตรงนี้ มีทั้งดี และไม่ดี และไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้วถ้ามันไม่ดี มันต้องเอากลไกอื่นมาแก้
แต่การที่ไปบอกว่า ทำระบบต่างๆ โดยหวังว่าจะต้องเป็นรัฐบาลผสม พรรคการเมืองมีอำนาจใกล้เคียงมากขึ้น จะเป็นคำตอบที่ดี ผมว่าเป็นการคิดผิด นักการเมืองที่ชอบระบบนี้มากสุดคือ นักการเมืองที่ชอบต่อรองผลประโยชน์ นักการเมืองที่อยากจะมีความคิดที่ชัดเจนว่า อยากทำอะไรจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องมาต่อรองกับหลายพรรค ใครจะกล้ายืนยันกับผมหรือไม่ว่า ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน พรรคเล็ก หรือพรรคขนาดกลาง ทำน้อยกว่าพรรคใหญ่ ย้อนกลับไปดูกี่ปีที่ผ่านมาก็ได้ ผมว่ามันไม่ใช่
ที่สำคัญคือ พอเอาแนวคิดนี้เข้ามา เลยสับสนว่ากระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการประชาธิปไตยทำอะไร จริงๆ คือ ต้องการให้ประชาชนกำหนดอนาคตของประเทศ ไม่ใช่เรื่องตัวคน เขาเลยเข้าใจบทบาทของผู้แทนกับพรรคการเมืองผิด เข้าใจว่าผู้เลือกตั้งต้องมานั่งไล่ดูผู้สมัครแต่ละคน ว่าคนไหนมีคุณธรรมความรู้ความสามารถมาก เลือกคนนั้น เหมือนกับมอบอำนาจคนนั้นไปทำอะไรก็ได้ ถึงบอกว่าไม่ทำตามมติพรรคก็ได้ เป็นอิสระก็ได้ สังกัดกลุ่มก็ได้ แต่ความเป็นจริงคือ คนหนึ่งคน เป็นผู้แทนทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องไปแสวงหาแนวร่วมรวบรวมเสียงข้างมาก พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการแปะยี่ห้อให้คนรู้ว่า คนที่สังกัดพรรคนี้จะพาบ้านเมืองไปทางไหน คุณเลือกผู้แทนไม่ได้เลือกเพราะเขาเก่ง หรือดี แต่เพราะจะทำให้ลูกคุณได้เรียนฟรี หรือ พ่อแม่ได้รักษาฟรี หรือค่าแรงจะเพิ่มขึ้น 300 บาท เป็นการทำให้ประชาชนได้สัมผัสคุณค่า และเรียนรู้ในประชาธิปไตย ถ้าพรรคนี้เคยมาแปะยี่ห้อนี้เข้าไป แล้วทำไม่ได้ ทำไม่ดี วันข้างหน้าผู้เลือกตั้งก็จะเรียนรู้ว่า ไม่เอาแล้ว แต่ถ้าคุณเอาระบบที่กรรมาธิการวางอยู่นี้มาใช้ คุณไปลงคะแนนเลือกตั้งแล้วยังไม่รู้เลยว่า อนาคต คืออะไร
เอาแค่ให้เหลือ 3 พรรคก็ได้ พรรคหนึ่งได้ 40 % พรรคหนึ่งได้ 40% และอีกพรรคหนึ่งได้ 20% ตอนนี้กำลังจะบอกว่า คนที่จะตัดสินว่าประเทศไปทางไหน คือ พรรคที่มีเสียง 20% เพราะขึ้นอยู่กับเขาว่าจะเลือกฝ่ายไหน โดยอาจจะพิจารณาเพียงแค่ว่า เขาได้ประโยชน์จากฝ่ายไหนได้มากกว่ากัน มีการต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล ที่เลวร้ายกว่านั้น พอรู้ว่าระบบพรรคการเมืองแตกกระจาย กลับกลายเป็นเพิ่มอำนาจให้รัฐบาล เช่น ยื่นคำขาดให้รัฐสภา ถ้าต้องการเอากฎหมายนี้ภายใน 48 ชั่วโมง เท่ากับกลับหัวกลับหาง แทนที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และตรวจสอบได้ กลายเป็นทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ถ้าไปรวมตัวต่อรองเรื่องผลประโยชน์ กลับมีอำนาจมาก ตรวจสอบยาก ถ่วงดุลยาก กลายเป็นยกฝ่ายบริหารให้อยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ
รวมถึงเรื่องถอดถอน ก็น่าจะเป็นปัญหามากขึ้น เดิมเราใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 5 วันนี้บอกว่าต้องประชุมร่วมสองสภา ใช้เสียงข้างมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ สภาผู้แทนฯ ข้างมากเป็นรัฐบาล ข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน สมมุติ ส.ว.เป็นกลางจริง คือ ครึ่งหนึ่งเอากับรัฐบาล ครึ่งหนึ่งเอากับฝ่ายค้าน แปลว่าเอาสองสภามารวมกัน คุณจะถอดถอนได้เฉพาะฝ่ายค้าน ไม่มีวันถอดถอนรัฐบาลได้เลย ผมเลยงงว่าแล้วมันแก้ปัญหามั๊ย บางเรื่องก็เป็นแนวความคิดใหม่ เหตุผลก็ดูดี ผมไม่ขัดข้องที่ให้ประชาชนมาจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์แทนพรรคการเมือง เขาบอกว่าเพื่อไม่ให้นายทุนมาเอาอันดับสูงไปเป็นผู้แทน ผมพูดได้เลยว่า นายทุนไม่ได้หวังจะเป็นผู้แทน แต่เขาหวังอยากเป็นรัฐมนตรี การมาทำโอเพ่นลิสต์ นายทุนไม่ต้องมาลงเลือกตั้งก็ได้ เขาให้เงินพรรคแม้จะสอบตก เขาก็มาเป็นรัฐมนตรีอยู่ดี ถ้ายืนยันว่ากระบวนการคัดสรรเข้มงวดมาก ขนาดอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชนต้องเป็นคนจัดลำดับ คนที่ลงต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แสดงที่มารายได้ย้อนหลังกี่ปี ต้องอธิบายแหล่งที่มารายได้หมด ผมถามว่าถ้าอย่างนั้นอนุญาตให้คนนอกมาดำรงตำแหน่งบริหารได้อย่างไร เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้เลย และที่แปลกคือ คนที่จะถูกตรวจสอบมากที่สุดคือ ส.ส.เขต เพราะเขามีคู่แข่งโดยตรง ข้อมูลที่ต้องมาแสดง ประวัติถูกขุดคุ้ยมาประจานมหาศาลเลย และจะเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีโอกาสได้เป็นฝ่ายบริหาร เพราะห้ามเป็นรัฐมนตรี ถ้าจะเป็นต้องเลือกตั้งซ่อม พรรคก็ไม่อยากทำ สังคมก็ไม่ยอมรับ ถ้าคิดให้ครบวงจร ยังต้องปรับปรุงอะไรอีกมากในวันนี้

ถาม- ภาค 4 ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดสภาพรัฐซ้อนรัฐ หรือไม่

ในส่วนปฏิรูปผมยังยอมรับได้ ว่าเขามีกระบวนการที่จะยุติข้อขัดแย้งระหว่างสภาขับเคลื่อนกรรมการยุทธศาสตร์ กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ว่าถ้าขัดกัน ตกลงกันไม่ได้ ให้ไปทำประชามติ ถือว่าประชาชนได้ตัดสิน เพียงแต่จะเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากพอสมควร แนวทางมันต้องผ่านการยอมรับของสังคมถึงจะเดินอย่างต่อเนื่อง จะไปบังคับให้คนกลุ่มนี้คิด แล้วอนาคตข้างหน้าคนกลุ่มอื่นซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกเข้ามาเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมชาติ
ปัญหาที่หนักกว่า คือ กรรมการปรองดอง เพราะมีสิทธิ์ในการเสนออะไรได้หลายอย่าง โดยที่เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ หากเขาไม่เห็นด้วย ไม่มีกระบวนการที่เป็นคำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมเข้าใจว่า ถ้าเขียนอย่างนี้คนที่เป็นรัฐบาลอาจจะถูกร้องให้ถอดถอน เพราะไม่ทำตามความรับผิดชอบในการสนองตอบ แต่อำนาจที่มาของคณะกรรมการปรองดอง ปัจจุบันก็ไม่มีใครรู้ อำนาจในบางเรื่องเราก็ไม่เคยเห็นปรากฏมาก่อน และผมเห็นว่าไม่เหมาะสม เช่น การเสนอให้ตรากฎหมายอภัยโทษ โดยมีหลักเกณฑ์แค่เพียงว่า ใครที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสำนึกผิดต่อกรรมการ มีสิทธิ์ได้รับการอัยโทษ สมมุติผมเข้าไปเป็นรัฐบาล และกรรมการเสนอให้อภัยโทษคนโกง ต่อให้เขาให้ข้อมูล หรืออ้างว่าสำนึกผิด ผมก็มีความคิดชอบธรรม หรือจุดยืนว่าไม่ควรได้ และความจริงอำนาจการอภัยโทษในประเทศเรามันมีอยู่แล้ว และเป็นอำนาจของประมุขของรัฐ การเอาอำนาจนี้มาให้กับ คณะกรรมการที่มีสถานะความเป็นองค์กรการเมือง แล้วบอกว่า ถ้าพิจารณาแล้วเป็นความรับผิดชอบของคนทีใช้อำนาจอธิปไตย แล้วยังไปอาศัยอำนาจของประมุขรัฐ ผมว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความขัดแย้งอย่างมาก ในอนาคต

ถาม- จะกลายเป็นตั๋วเครื่องบินให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านหรือไม่

ผมไม่กล้าที่จะไปกล่าวหาว่าเขาคิดขึ้นมา เจาะจงเพื่อคนหนึ่งคนใดหรือไม่ แต่ผมไม่เห็นว่าตรงนี้จะช่วยส่งเสริมการปรองดอง ผมกลับมองว่า มันจะย้อนเหมือนฉายหนังซ้ำกับตอนที่เขาจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยอ้างความปรองดอง เพราะผมมองว่า การจะใช้เครื่องมือ เช่น การอภัยโทษ มาเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความปรองดอง มันสามารถทำได้ อยู่ในกรอบกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว และน่าจะเป็นที่ยอมรับมากกว่าด้วย

ถาม- ดูเหมือนกรรมาธิการยกร่างฯ จะค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าไม่ใช้คำว่า“นิรโทษกรรม”แต่เป็น "การอภัยโทษ" ประชาชนจะยอมรับได้

ผมว่าการรับรู้ในเรื่องนี้ยังไม่มาก ลองไปถามว่า ถ้ามีการอภัยโทษคดีทุจริต คนยอมรับได้หรือไม่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งคนรับรู้มากขึ้น ผมมั่นใจว่าจะมีปฏิกิริยารุนแรงกลับมา เพราะมันไม่ได้เขียนขอบเขตไว้ ว่าความผิดประเภทไหนบ้าง ที่จะได้อภัยโทษ

ถาม- มองอย่างไรที่จะมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีกลไกการตรวจสอบเลย ขณะที่นักการเมือง จะต้องอยู่ในระบบตรวจสอบปกติ

หลายองค์กรที่เกิดขึ้น มีปัญหาการตรวจสอบส่วนหนึ่ง แต่ที่มา และอำนาจมมันหาเหตุผลในแง่ของความชอบธรรม หรือการยอมรับได้ยาก อย่าง‘สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ’ผมนับถือนะ ใครกล้าไปเป็น ผมว่าผมไม่ใช่คนชั่ว แต่ก็ไม่กล้า ไปบอกว่าผมอยู่ในฐานะที่จะไปเที่ยวชี้ว่า คุณธรรมคุณดี คุณธรรมคุณแย่ มันไม่มีหรอกที่จะหาคนหมดจด ไม่มีปัญหาเรื่องคุณธรรมสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่จะมีทั้งสมัชชา และจะไปเที่ยวชี้คนอื่น แล้วตัวเองถูกตรวจสอบอย่างไร ก็ไม่มีใครรู้ อย่างนี้มันจะสร้างปัญหา แทนที่เราจะพยายามดูว่า กลไกอะไรที่มันเป็นจริง ที่ผ่านมาหลายกลไกมันก็ทำงาน แต่อาจจะมีข้อบกพร่อง ทำงานช้า เช่น ศาลปกครอง แม้กระทั่ง กกต. ที่อาจจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็มีขอบข่ายอำนาจกลไกของเขา การแก้ปัญหาขององค์กรอิสระ ขณะนี้ไม่เห็นมันดีกว่าเดิมอย่างไร เช่น การมี ‘กจต.’ จะมาแก้ปัญหา กกต. อย่างไร ไม่เข้าใจว่าเรื่องที่ศาลปกครองเคยมีอำนาจ เคยชี้ไปแล้ว เช่น ปัญหาการโยกย้ายข้าราชการ ทำไมไม่ทำให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลับไปคิดตั้งอีกองค์กรหนึ่งมาดูแลโยกย้ายข้าราชการเลย และที่บอกว่า เพราะนักการเมืองไว้ใจไม่ได้ จะมาขัดแย้งกับข้าราชการ แล้วตอนนี้ไม่มีนักการเมือง ทำไมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงอยู่ไม่ได้ ทำไมกรณีอย่างนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หรืออย่างกรรมการสิทธิฯ ผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมต้องไปยุบรวม และจะเป็นปัญหากับภาพลักษณ์จากต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะจะมีเครือข่ายของเขาในระดับสากล การที่จะเข้าไปร่วมกับองค์กรสิทธิฯได้ ต้องใช้เวลา การไปยุบรวม เขาจะถือว่าเป็นองค์กรใหม่ ต้องไปเริ่มต้นทำงานกว่าจะเป็นที่ยอมรับ และ สุดท้าย คสช. จะกลายเป็นจำเลย โดยที่มาจากกรรมาธิการ คือ จะถูกมองว่าปฏิวัติรัฐประหารเสร็จแล้วมายุบองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทิ้ง แล้วเอาไปยุบรวมกับองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ไม่ใช่งานเดียวกันกับสิทธิมนุษยชน

ถาม-ดูภาพรวมอย่างนี้แล้ว ความหวังที่บอกว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทย จะเป็นได้หรือไม่

ก็คงจะมีฉบับสุดท้าย และจะมีฉบับต่อไป เท่าที่เขียนอยู่มีปัญหาแน่นอน ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เคยเรียกร้องต้องมีการเลือกตั้งเร็ว และยังพูดกับต่างชาติที่เข้ามาพูดคุยว่า อย่าเรียกร้องให้มีเร็ว แต่ควรจะมีกติกาที่ดี เป็นที่ยอมรับและยั่งยืน ไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะมาถกเถียงกันว่า ฉบับที่ 20 ควรจะแก้กี่มาตรา หรือควรจะรื้อ หรือหาทางร่างฉบับที่ 21 เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 83 ปี มีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ ถือว่าใช้เวลาร่าง กับเถียงกันมากว่าใช้มันให้สมบูรณ์ทั้งฉบับ มันสูญเสียโอกาส และเวลาของประเทศมาก ถึงได้เสนอว่า ควรทำประชามติให้เป็นที่ยอมรับและยังยืน และจะเป็นตัวบีบให้มันมีมาตรฐาน แต่ต้องมีทางเลือกที่ชัด ไม่ใช่บอกว่า รับ ไม่รับ แล้วบอกว่า อย่ารู้ว่าคุณจะได้อะไร เมื่อไหร่ มันก็ไม่เป็นธรรม และไม่ได้ลงคะแนนที่สะท้อนความจริง

ถาม- คิดว่ากรรมาธิการยกร่างฯ จงใจที่จะร่างให้มีกับดัก เกิดขึ้นหรือไม่

ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครที่จะตั้งใจทำแบบนั้น แต่ก็อาจจะเกิดจากหลายๆ อย่าง ผมเคยมองในแง่ดี คือ 1 จริงแล้วปัญหาก่อน 22 พ.ค. 57 มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มีคนกลุ่มเดียวที่โวยคือ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มาสร้างปัญหาตรงนั้น แต่ว่าพอปฏิวัติแล้วสังคมกลับมองว่า รัฐธรรมนูญ คือกุญแจของการแก้ปัญหา มันเป็นการมองมาผิดที่ 2. พอสังคมมองอย่างนี้ คนร่างก็มีแรงกดดันว่า ต้องหาอะไรใหม่ ถ้าเขียนแล้วไม่มีอะไรใหม่ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะถูกต่อว่าแล้วจะเขียนทำไม ปฏิวัติมาทำไม จะสังเกตว่า เขาพยายามหาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เมื่อของเก่ามันไม่มีปัญหา แล้วของใหม่ที่ขึ้นมาบางทีมันย้อนยุคด้วยซ้ำ มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาใหม่ กรอบและวิธีคิด แรงกดดันตรงนี้ อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มันออกมาแบบนี้มากกว่า เขาจงใจร่างออกไม่ให้ผ่าน แล้วตัวเองก็ถูกยุบไป แล้วถูกจารึกไว้ แม้จะไม่มีกฎ กติกา ห้ามตั้งคนเก่าเข้ามาร่างใหม่ แต่ถ้าคนตั้งไปเอาคนที่ร่างไปแล้วเขาไม่เอา มันก็ไม่มีคำตอบให้กับสังคมได้

ถาม-ถ้าไม่มีเจตนาเช่นนั้น ทำไมถึงบัญญัติไว้เลยว่า ถ้าไม่ผ่านสามารถร่างใหม่ขึ้นมาได้ต่อไปเรื่อย ๆ

ผมคิดว่าย้อนกลับไปที่เราพูดว่า 1 ปีผ่านไป คนไทยจำนวนมากอดทน ยอมรับสิ่งที่ไม่ปกติตอนนี้ เพื่อหวังจะได้สิ่งที่มันดีขึ้น แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ความอดทนตอนนี้ก็ยิ่งลดลง ความอึดอัด ก็ยิ่งมากขึ้น การที่จะร่างไปเรื่อยๆ ผมว่า คนทำและคนที่อยู่ในอำนาจจะไม่มีความสุขหรอก ผมว่าถามท่านนายกฯ ว่า อยากจะอยู่ตามโรดแมป แล้วทำสิ่งที่ทำให้สังคมอยู่อย่างสงบยาวนาน หรืออยากอยู่ยาวแล้วก็เกิดสัมคมตีกันตามมา ท่านน่าจะตอบได้ ประเด็นไม่ใช่ว่า จะอยู่ยาว หรือไม่ยาว แต่สิ่งที่ คสช. ต้องคิดคือ ที่ตนเองทำมันจะอยู่ได้ยาวอย่างไร มั่นใจได้อย่างไรว่ามันดี คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ไม่ว่าจะวันไหน ความสำเร็จของคสช. จะถูกวัดว่า ทำให้ประเทศชาติดีขึ้นหรือไม่ หลังจากเขาออกไปแล้ว

ถาม-มองบทบาท ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อย่างไร

ผมยอมรับว่า ท่านเป็นคนมีความตั้งใจสูง เอาจริงเอาจัง และกล้าพูดอะไรโผงผาง ปะทะกับทุกคนที่จำเป็น คนส่วนใหญ่เลยมองว่า ท่านน่าจะมีความตั้งใจที่ดี แต่ปัญหาทุกอย่างขณะนี้คือ ตัวท่านเอง แทบจะไม่มีใครพูดถึงคนอื่นในรัฐบาลที่ประกอบเป็นกลไกในการทำงานเลย ตรงกันข้ามหลายคนเริ่มมองว่า คนอื่นมีความคิด และตั้งใจเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ หรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าภาระทุกอย่างจึงตกหนักอยู่ที่ท่าน และคงรู้ว่าเป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสในการเดินหน้าในปีต่อไป การได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากมาย ในการมีอำนาจ จะเป็นอันตรายต่อประเทศเหมือนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวท่านเอง และสังคมก็ใจร้อน ไม่ยอมรอให้ทำระบบให้มีความยั่งยืน ถ้ายังเปลี่ยนตรงนี้ไม่ได้ ก็จะเป็นอันตรายเพราะการแกว่งไปแกว่งมาของสังคม จนนำไปสู่ความวิกฤติได้
ถ้าท่านอยากจะให้การทำอะไรมันยั่งยืน ก็ต้องระวังอย่างมากว่า อย่าทำให้สังคมยึดติดอยู่กับการเชื่อบุคคล หรือ นิยมชมชอบกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ผมก็ยังกังวลว่า หลายฝ่ายบอก ขอให้ใช้ มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ความจริงวันนี้ไม่ต้องมี มาตรา 44 ทางคสช. อยากออกกฎหมายหรือ มาตรการใดๆมา ก็ทำได้แทบจะไม่มีอุปสรรค หรือล่าช้าอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเหตุผลแบบคอขาดบาดตายอย่างไร ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะต้องเอา มาตรา 44 มาใช้ในเรื่องอื่นๆ ทำไม ให้คนมีความรู้สึกว่า การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นสิ่งปกติ สามารถหาวิธีการอื่นได้อยู่แล้ว ล่าสุดที่มีคำสั่งออกมาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของทหาร ผมเข้าใจว่า ตอนแรกมีการวิจารณ์ว่า พยายามเอา มาตรา 44 มาใช้ลิดรอน สิทธิประชาชน เลยพยายามแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่นะ เอามาสร้างสรรค์ก็ได้ แต่ในมุมของผมกลับกลายเป็นทำให้คนยึดติดกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น ทั้งผู้ใช้ และประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับอนาคตถ้าเราต้องการปฏิรูป

ถาม- ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เวลารัฐธรรมนูญมีปัญหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็เคยเกิดโศกนาฏกรรมมาแล้วหลายครั้ง คราวนี้ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อย่างไรบ้าง
ต้องไม่คิดว่า ตัวเองจะสามารถสร้างข้อยกเว้นขึ้นมาได้ ในที่สุดมันหนีไม่พ้น เพราะโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป มันค่อนข้างชัดว่าไม่มีที่ไหนที่จะฝืนกระแสของประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยของเราที่ผ่านมา อาจจะถูกทำลายโดยนักการเมือง มีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อน มีคนเอาไปหากิน แต่ต้องแยกให้ออก ระหว่าง ตรงนั้นกับตัวหลักการของประชาธิปไตย
ผมถึงบอกว่า ปัญหาของคสช. และผู้ร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้คือ ไม่แยกระบอบทักษิณ ออกจากระบอบประชาธิปไตย ระบอบทักษิณอาศัย ประชาธิปไตยมาหากิน ผู้ร่าง คสช. หรือเปล่าผมไม่ทราบกำลังสับสน ถ้าจะคิดว่า ทำลายหลักการระบอบประชาธิปไตยแล้วระบอบทักษิณจะทำลายไปด้วย ผมบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะระบอบทักษิณไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย คุณต้องแยกเอาระบอบทักษิณออกมา แล้วทำลายทิ้ง แล้วรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ถ้ายังคิดแบบนี้ เราจะไม่ได้ระบอบประชาธิปไตย แต่จะได้ระบอบทักษิณ แทนที่

ถาม- มีการมองว่าให้ทหารมาบริหารประเทศ มีแต่พังกับเจ๊ง โดยเฉพาะเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ที่มีแต่ดิ่งลงเหว

มันยาก เพราะเศรษฐกิจไทยผูกพันกับเศรษฐกิจโลก แม้จะเรียกว่าเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ก็ต้องยึดถือมาตรฐาน และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ไม่มากก็น้อย ความที่บ้านเมืองไม่ปกติ มันเป็นตัวจำกัดอยู่แล้ว ใครคิดจะลงทุน หรือไม่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ก็เป็นตัวฉุด เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี ความเชื่อมั่นในประเทศก็ถูกกระทบส่วนหนึ่ง และที่สำคัญ รัฐบาลแบบยุคนี้ต้องพึ่งกลไกราชการเกือบ 100 % นักการเมืองไม่เอาเลย นักธุรกิจก็ต้องมีการรักษาระยะห่าง การบริหารเศรษฐกิจ มันต้องคอยตอบสนองความต้องการความเชื่อมั่นของประชาชน มันเป็นโจทย์ที่ยาก โอกาสสำเร็จจึงน้อย 1 ปี ที่ผ่านมา น่าจะยืนยันตอกย้ำว่า คนที่ทำอยู่ก็ไม่สามารถหนี หรือเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ หรือมีทีเด็ดที่จะทำให้มันดีได้ ซึ่งตัวเลขมันบอกได้

ถาม- หากย้อนไปวันที่ 21 พ.ค. โดยไม่มีการก่อรัฐประหาร ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ตอบยาก ผมก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงไปสู่การรบราฆ่าฟัน มีค่อนข้างสูง และยิ่งตอบยากว่า อะไรจะเป็นผลพวงตามมา อย่างที่ผมบอกประชาชน อยากเห็นความสงบของบ้านเมือง แต่เขาก็เห็นว่า ภาวะตอนนี้ไม่ปกติ และลำบาก แต่ถ้าคิดว่ามันได้สิ่งที่ดีกว่าปลายทางมันก็คุ้ม เราอย่าพึ่งไปตัดสินอะไรตอนนี้ รอไปดูตอนจบว่า สุดท้ายผลออกมาเป็นอย่างไร ปัญหาคือสิ่งที่ได้มามัน ก็มีสิ่งที่เสียไป สิ่งที่ได้มาก็คือความสงบ และที่เสียไปผมไม่นับเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิเสรีภาพ ที่ถกเถียงกันอยู่ แต่สิ่งหนึ่งคือ กระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคม ต่อความเลวร้ายในการใช้อำนาจที่ผิดมันไม่เกิดขึ้น วันนี้ผมเชื่อว่า เกษตกรจำนวนมากอยากได้จำนำข้าวกลับมา แต่ผมเชื่อว่า ถ้าวันนั้นไม่มีรัฐประหาร อย่างไรโครงการจำนำข้าว ก็จะต้องพัง และถ้าพังในมือของคนที่ทำพัง ประชาชนจะเรียนรู้ อย่างชัดเจนมาก ว่า นโยบายแบบนั้นมันใช้ไม่ได้เพราอะไร แต่พอมาเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ก็จะมีคนไปอ้างว่า ถ้าไม่มีเกิดเหตุการณ์นี้ เกษตรกรก็จะยังได้หมื่นห้าอยู่ โครงการจำนำข้าว ก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ คสช.ต้องแสดงความจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีเจตนาที่จะไปทำลายใคร หรือทำร้ายใคร แต่ให้คนรู้ถึงความเสียหายที่เกิด เอาเรื่องเป็นตัวตั้ง อย่าเอาคนเป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนไปขวนขวายหาเอาเองว่า คนมันเกี่ยวกับใคร แต่เขาควรจะรู้ว่า เรื่องไหนมันแย่ เรื่องไหนมันดี

ถาม- ช่วงนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์เปราะบางของสังคมไทย อยากฝากอะไรถึง พล.อ.ประยุทธ์ บ้าง

อยากให้ท่านสะสมสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ 1 ปีที่ผ่านมา ลองประเมิน ทบทวนสิ่งที่ทำมา และฟังเสียงให้รอบด้าน และมีความแน่วแน่ว่า เป้าหมายวันแรกวินาทีแรกที่เข้ามา ที่ว่าจะทำบ้านเมืองให้สงบ นำไปสู่การปฏิรูปอย่างยั่งยืน จะทำอย่างไร อยากให้ทุกฝ่าย ทุกองค์กร และพรรคการเมือง แม้แต่พรรคเพื่อไทยเอง เพราะผมเชื่อว่า ถ้าเขาสละทุกอย่าง หลุดออกผลประโยชน์ของครอบครัวชินวัตรได้ เขาจะเป็นพรรคการเมืองที่ดีได้

ถาม- ถ้าดูจากสภาพบ้านเมืองแบบนี้ ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งอย่างที่มีการวางโรดแมป หรือไม่

ก็เป็นไปได้ แต่เรียบร้อยหรือไม่ เลือกเสร็จแล้วจะเกิดอะไรหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเองย้ำอีกครั้งว่า อยากเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับ และเลือกตั้งแล้ว ต่อไปประเทศไทยเรามาถกเถียงแต่เรื่องว่า จะเดินไปทางไหน ให้คนของเรามีความสุข เราแข่งขันได้ เติบโตได้มากกว่า มันไม่ยากที่จะให้มีเลือกตั้งปีหน้า หรือปีไหน แต่ผมกลัวว่า ถ้าเลือกแล้วมันย้อนกลับไปเหมือนเดิม หรือเลวร้ายกว่าเดิม ก็จะเกิดความสูญเปล่า ผมไม่ได้พูดถึงความสูญเปล่าของการทำรัฐประหาร แต่เสียดาย และเสียใจ กับคนที่เขาต่อสู้ที่อยากเห็นบ้านเมืองมีการปฏิรูปมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น