xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ร้องรัฐเปิดสัมปทานปิโตรเลียมไวๆ “มนูญ” หยันภาคประชาชนไม่เคยทำธุรกิจน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มนูญ ศิริวรรณ (ภาพจากแฟ้ม)
กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน เรียกร้องรัฐบาลแสดงความชัดเจนกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 หลังสั่งระงับพิจารณาตามข้อเสนอของภาคประชาชนใน 90 วัน ไร้ความคืบหน้า ลั่นต้องเดินหน้าเปิดสัมปทาน พร้อมแก้กฎหมาย “มนูญ” บอกยิ่งเปิดเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ยันคำเดิมก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมด อ้างไทยไม่มีความพร้อมแบ่งปันผลผลิต จัดตั้งระบบใช้เวลาหลายปี หยันภาคประชาชนไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในธุรกิจน้ำมัน คิดเองเออเองทั้งสิ้น

วันนี้ (4 พ.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ สปช. ได้ส่งรายงานเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจัดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นด้านพลังงานตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของภาคประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนั้น จนถึงขณะนี้ตนยังไม่เห็นความคืบหน้าของเรื่องนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ เพราะส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อรัฐบาลไทย เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศเชิญชวนบริษัทต่างๆ ให้มายื่นขอสิทธิสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้ว และถึงแม้ว่าจะต้องเลื่อนออกไปก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับกันได้ แต่ไม่ใช่เลื่อนไปไม่มีกำหนด จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดสัมปทานวันไหนอย่างไร และไม่ควรโยนให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอีก

“ส่วนตัวเห็นว่า การเปิดสัมปทานรอบใหม่จะต้องเดินหน้า เพราะความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม” นายอลงกรณ์ กล่าว

ด้าน นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธาน กมธ. ปฏิรูปพลังงาน คนที่ 2 สปช. กล่าวว่า หากการเปิดสัมปทานยังถูกเลื่อนออกไป จะทำให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพียงแต่จะไม่เกิดผลกระทบในทันทีทันใด เพราะขณะนี้เรายังพอปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศใช้ไปได้ แต่ทั้งนี้ผลกระทบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปริมาณก๊าซในประเทศจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จะเห็นนับจากนี้ไปประมาณ 5 ปี

“การเปิดสัมปทานยิ่งเร็วเท่าไรได้ก็ยิ่งดี เพราะเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ถ้าเราทำช้า เราก็จะรู้ว่ามีก๊าซมากน้อยแค่ไหนช้าไป ถ้าช้าไป 1 ปีก็รู้ช้าไป 1 ปี ถ้าช้าไป 2 ปีก็รู้ช้าไป 2 ปี เพราะฉะนั้นเรื่องการวางแผนด้านความมั่นคงถ้ารู้เร็วก็สามารถปรับตัวได้เร็ว และจะวางแผนด้านความมั่นคงได้ดีกว่า เราจะวางแผนกันอย่างไร จะนำเข้าเท่าไร จะนำเข้าจากไหน ความเสี่ยงเรามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องการวางแผนด้านความเสี่ยงก็ควรต้องรู้ล่วงหน้าพอสมควร” รองประธาน กมธ.พลังงาน ระบุ

ส่วนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่นั้น นายมนูญ กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รู้ว่าความเสี่ยงของประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรีบตัดสินใจ เพียงแต่ว่า ขณะนี้กระแสคัดค้านของภาคประชาชนค่อนข้างแรงเรียกร้องให้มีระบบหรือทางเลือกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เพราะฉะนั้นคงจะดูว่า จะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีทางเลือกได้หรือไม่ เชื่อว่าถ้ามีความชัดเจน ก็คงจะเร่งรัดให้แก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เห็นว่าได้มีการตอบสนองข้อเรียกร้องของภาคประชาชน และจะได้เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป

นายมนูญ ระบุอีกว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งไทยไม่มีความพร้อม เพราะไม่ใช่แก้ไขกฎหมายอย่างเดียวแล้วก็ทำได้เลย แต่ระบบพีเอสซีจะต้องเตรียมการในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรใหม่ที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนหรือจะเอาองค์กรที่มีอยู่มาดำเนินงานก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ยังไม่รวมถึงการออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ มารองรับ การหาบุคลากรที่มีความชำนาญ ทุกเรื่องต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง มาเลเซียใช้เวลาหลายปีกว่าจะแก้ไขกฎหมายและจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแล

“รอบที่ 21 ควรจะเดินหน้าใช้ระบบสัมปทานไปก่อน ขณะเดียวกันเราก็แก้ไขกฎหมายและหาทางจัดตั้งองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทำระบบแบ่งปันผลผลิตควบคู่กันไปด้วย ถ้าพร้อมที่จะทำระบบแบ่งปันผลผลิตเมื่อไร แล้วมาพิจารณาดูว่า จะใช้ระบบนี้ในแปลงสัมปทานใด เช่น แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือเอาไปใช้ในพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา” นายมนูญ กล่าว

นายมนูญ กล่าวว่า สำหรับภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตนมีข้อสังเกตว่า แต่ละคนที่ออกมารณรงค์คัดค้านไม่มีใครที่มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจน้ำมันหรือในอุตสาหกรรมการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมเลย เป็นเพียงการนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาวิเคราะห์กันเองทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น