สนช. เห็นชอบกฎหมายคุมม็อบ แกนนำต้องขออนุญาตตำรวจก่อน 24 ชั่วโมง ห้ามชุมนุมใกล้วังระยะ 150 ม. และห้ามบุกรัฐสภา ทำเนียบ ศาล หรือ กีดขว้างทางไปสนามบิน รถไฟ เปิดช่องให้ไม่พอใจร้องศาลปกครอง และ ศาลยุติธรรม ได้
วันนี้ (1 พ.ค.) มีการประชุม สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธานในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 158 ต่อ 0 เสียง และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 4 ของ กมธ. วิสามัญฯ ได้แก้ไขร่างเดิมของรัฐบาล และตัดคำนิยามของศาลออกไป แต่นำไปบัญญัติในมาตรา 21 คือ ให้อำนาจศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด (ศาลยุติธรรม) เท่านั้น เป็นผู้วินิจฉัยในเรื่องการชุมนุมสาธารณะ ส่งผลให้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สนช. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สนช. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับร่างของ กมธ. วิสามัญฯ โดยขอให้เพิ่มคำนิยาม คือ เพิ่มศาลปกครอง เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการชุมนุมสาธารณะควบคู่กับศาลแพ่งไปด้วย
เนื่องจากข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นอำนาจทางปกครอง ซึ่งหากใช้ระบบกล่าวหาโดยฟ้องศาลปกครอง จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการได้ง่ายเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถเขียนคำฟ้องเอง ไม่ต้องพึ่งทนายความ อีกทั้งยังเป็นระบบพิจารณาคดีแบบไต่สวนที่ประชาชนไม่ต้องไปหาหลักฐานเอง
ขณะที่ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด (ศาลยุติธรรม) เป็นระบบกล่าวหา ที่ประชาชนต้องไปหาหลักฐานเอง และต้องมีทนายความพร้อมเขียนคำฟ้องตามแบบกฎหมายที่กำหนด และ มีค่าธรรมเนียมศาลอีกด้วย
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กมธ. เสียงข้างมากจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่นิยามคำว่าศาลในมาตรา 4 เพราะไม่ต้องการกำจัดสิทธิ์ประชาชน ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในระบบศาลคู่ของไทยได้ ในกรณีที่มีการกระทำในทางอำนาจของศาลปกครอง เช่น เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกชุมนุมชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ไปศาลปกครอง หากเป็นเรื่องที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่นประชาชนละเมิดข้อห้ามการชุมนุม ก็ไปร้องที่ศาลยุติธรรม
มาตรา 21 เป็นเรื่องการฝ่าฝืนการชุมนุมไปแล้ว ดังนั้น คำสั่งให้เลิกชุมนุมควรเป็นอำนาจของศาลแพ่ง หรือศาลยุติธรรม โดยให้ตำรวจ หรือประชาชนที่ได้รับการเดือดร้อนจากการชุมนุมไปฟ้องศาล
จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ กมธ. ไปปรับถ้อยคำในมาตรา 21 โดยคดีที่เกี่ยวข้องคำสั่งทางปกครองก็ให้ไปฟ้องศาลปกครอง ขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือผู้กระทำความผิดอาญา ก็ให้ไป ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด (ศาลยุติธรรม)
ต่อมาที่ประชุมพิจารณาในมาตรา 7 นายสมชาย แสวงการ สนช. ได้สงวนคำแปรญัตติโดยแก้ไขให้เพิ่มรัศมีการชุมนุมให้ห่างจากพระบรมมหาราชวังเป็นระยะ 200 เมตร เพราะเกรงว่าอาวุธปืนจะไปกระทบพระบรมมหาราชวัง จากร่างของ กมธ. ที่กำหนดไว้ 150 เมตร โดย กมธ. เสียงข้างมาก ยืนยันว่า ระยะ 150 เมตร เป็นระยะที่ปลอดภัย และสามารถดูแลสถานการณ์ได้ ซึ่ง นายสมชาย ก็ไม่ได้ติดใจขอถอนคำสงวนแปรญัตติ
มาตรา 10 และมาตรา 12 ที่สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ ก่อนชุมนุม 24 ชั่วโมง นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. ได้สงวนคำแปรญัตติไม่เห็นด้วยจะไปปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุม โดยเสนอให้มาแจ้งการชุมนุมภายหลังก็ได้ เพราะบางเรื่องที่ชุมนุมนั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติ หรือคุ้มครองสถาบัน แต่ กมธ. เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ส่วนมาตราบทลงโทษ นายสมชาย แสวงการ สนช. ไม่เห็นด้วยที่ไม่มีบทลงโทษจำคุกแก่ผู้ควบคุมการชุมนุม ที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเกิดความวุ่นวาย แต่ กมธ. เสียงข้างมากเห็นว่าเป็นโทษที่เพียงพอแล้ว อีกทั้งยังมีประมวลกฎหมายอาญา เอาผิดได้อีก จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเสร็จทั้งฉบับซึ่งมีทั้งหมด 35 มาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายคือมาตรา 7 ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบวรวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือ สถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ
นอกจากนี้ ยังห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดพื้นที่สำหรับการชุมนุมสาธารณะไว้ให้ มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือ รบกวน สถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานทูต หรือ กงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือ สถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ มาตรา 10 ผู้ประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมในสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่อย่างน้อยก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมต้องระบุวัตถุประสงค์ และวันเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 11 หากผู้รับแจ้งหรือหัวหน้าสถานีตำรวจไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดชุมนุม สามารถอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือกว่าผู้รับแจ้งหรือหัวหน้าสถานีตำรวจ และให้ผู้รับอุทธรณ์วินิจฉัยและแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง และถือเป็นที่สิ้นสุด
อีกทั้งในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์ และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่มาตรา 15 ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ คือ ดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ และต้องให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอีกด้วย และ ผู้ชุมนุมต้องไม่ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น มาตรา 15 ผู้ชุมนุม มีหน้าที่ควบคุมการชุมนุมไปโดยสงบและปราจากอาวุธ และมาตรา 16 ผู้ชุมนุมต้องมีหน้าที่ ไม่ก่อความเดือดร้อน และไม่ปิดบังอำพรางใบหน้า โดยมีเจตนาปิดบังตัวตน ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกหรือทั้งจำและปรับตามโทษที่กำหนด