xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไฟเขียวกม.ชุมนุมสาธารณะ จัดม็อบต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เป็นวาระที่ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ

สำหรับเนื้อหาสาระคือกำหนดสิทธิการชุมนุมสาธารณะให้เกิดความชัดเจน โดยมาตรา 10 ผู้ประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมในสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่อย่างน้อยก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมต้องระบุวัตถุประสงค์ และวันเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา 7 ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบวรวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือ สถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ

นอกจากการจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดพื้นที่สำหรับการชุมนุมสาธารณะไว้ให้ มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือ รบกวน สถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานทูต หรือ กงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือ สถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในมาตรา 11 หากผู้รับแจ้งหรือ หัวหน้าสถานีตำรวจไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดชุมนุม สามารถอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือกว่าผู้รับแจ้งหรือหัวหน้าสถานีตำรวจ และให้ผู้รับอุทธรณ์วินิจฉัยและแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง และถือเป็นที่สิ้นสุด

อีกทั้งในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์ และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่มาตรา 15 ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ คือดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ และต้องให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอีกด้วย และผู้ชุมนุมต้องไม่ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 - 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และมาตรา 16 ผู้ชุมนุมต้องมีหน้าที่ ไม่ก่อความเดือดร้อน และไม่ปิดบังอำพรางใบหน้า โดยมีเจตนาปิดบังตัวตน ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 - 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ในกรณีผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมตามกำหนดหรือฝาฝืนกฎหมาย มาตรา 21 ให้ เจ้าพนักงาน ร้องศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 และ 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือหรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

ทั้งนี้ ในการอภิปราย สนช.สายกฎหมายและกลุ่ม 40 ส.ว.หลายคนแสดงความเป็นห่วงมาตรา 4 ที่ กมธ.ตัดคำนิยามเรื่อง “ศาล หมายความว่า ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุม” ทำให้สมาชิกที่ได้แสดงความเห็น และแปรญัตติกันมากว่าศาลที่อยู่ในอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เพียงแค่ศาลที่ระบุไว้ ดังนั้นควรจะเพิ่มให้อำนาจศาลปกครองไว้ด้วย ทำให้มีผู้สงวนและสมาชิกขออภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยอยากให้มีการระบุเรื่องเขตอำนาจศาลให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางร้องเรียน ในกรณีมีการกระทำเกินกว่าเหตุ

อย่างไรก็ตามตัวแทน กมธ.ชี้แจงว่า ไม่จำเป็นต้องกำหนดคำนิยามดังกล่าว เพราะการจะฟ้องศาลใด ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นว่าจะขึ้นอยู่กับศาลใด หากจะไปกำหนดให้ขึ้นอยู่กับเฉพาะศาลแพ่งกับศาลจังหวัด การกระทำทุกการกระทำจะตกอยู่ภายใต้แค่สองศาลดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับระบบศาลคู่ของไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่า แต่ละกรณีจะอยู่ในเขตอำนาจศาลใด จึงอยู่ที่การบังคับใช้ตามกฎหมายของศาลนั้น หลังจากที่ กมธ.ชี้แจงแล้ว ทำให้สมาชิกไม่ติดใจ

จนกระทั่งเวลา 20.00 น. หลังจากที่สมาชิกอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวกว่า 4 ชั่วโมงเรียงตามมาตราแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปด้วยคะแนน 158 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4
กำลังโหลดความคิดเห็น