สนช.เตรียมคลอดกฎหมายชุมนุมสาธารณะล้อมคอกม็อบ วางกฎต้องขออนุญาต ผกก.สน.ในพื้นที่ ห้ามบุกรัฐสภา ยึดทำเนียบ ไม่ขวางทางเข้าออก สนามบิน สถานีรถไฟ ท่ารถสาธารณะ ใกล้วังเจ้ารัศมี 150 เมตร งดเคลื่อนม็อบกลางคืน ห้ามพรางตัว และต้องปิดเครื่องเสียงหลังเที่ยงคื่น ฝ่าฝืนติดคุก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 30 เม.ย.ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธาน
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาสาระ คือ กำหนดสิทธิการชุมนุมสาธารณะให้เกิดความชัดเจน โดยมาตรา 10 ผู้ประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมในสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่อย่างน้อยก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมต้องระบุวัตถุประสงค์ และวันเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 7 ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ
นอกจากการจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดพื้นที่สำหรับการชุมนุมสาธารณะไว้ให้ มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานทูต หรือกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ในมาตรา 11 หากผู้รับแจ้ง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดชุมนุมสามารถอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือกว่าผู้รับแจ้ง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ และให้ผู้รับอุทรณ์วินิจฉัย และแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง และถือเป็นที่สิ้นสุด
อีกทั้งในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์ และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้งดการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่มาตรา 15 ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่คือดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ และปราศจากอาวุธ และต้องให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอีกด้วย และผู้ชุมนุมต้องไม่ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
ส่วนมาตรา 16 ผู้ชุมนุมต้องมีหน้าที่ไม่ก่อความเดือดร้อน และไม่ปิดบังอำพรางใบหน้าโดยมีเจตนาปิดบังตัวตน ไม่เดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ในกรณีผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมตามกำหนด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 21 ให้เจ้าพนักงานร้องศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนนมาตรา 7 และ 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ