xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยกฟ้อง “จอน อึ๊งภากรณ์” ชุมนุมหน้าสภาปี 50 ค้านออกกฎหมาย 11 ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง “จอน อึ๊งภากรณ์” เอ็นจีโอ และพันธมิตรฯ ชุมนุมหน้าสภาปี 50 ชี้ไม่ได้บุกรุกหรือก่อความวุ่นวาย เจตนาเพียงคัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับ เกรงกระทบสิทธิและเสรีภาพประชาชน



ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 26 พ.ย. 57 เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีบุกรัฐสภา หมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 64 ปี ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 51 ปี แกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2, นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 53 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 และอดีตประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.), นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 32 ปี, นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 47 ปี, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 38 ปี, นายอำนาจ พละมี อายุ 46 ปี, นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 57 ปี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง อายุ 48 ปี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 39 ปี กรรมการ กสทช. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365

โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 30 ธ.ค. 53 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 50 จำเลย กับพวกหลายร้อยคน ได้มั่วสุมบริเวณ ถ.อู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา แล้วพวกจำเลยในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนหรือแกนนำม็อบ ได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงมาจอดปิดทางเข้าออกรัฐสภา ใช้โซ่ล่ามประตูเข้าออกไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ทำการรัฐสภา ทั้งยังได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาจำเลยกับพวกหลายร้อยคนได้บุกอาคารรัฐสภาใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ จากนั้นได้ไปชุมนุมที่อาคาร 1 ชั้น 2 ที่ใช้เป็นที่ประชุม สนช.แล้วได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม สนช.ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้เรื่องเจตนาว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อ สนช.ที่เร่งรีบจะพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับ

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 56 ว่า จำเลยที่ 1-4 และ 7-8 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นผู้สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3 ที่มีโทษบทหนักสุดให้จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท

ส่วนจำเลยที่ 5-6 และ 9-10 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม. 215 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,000 บาท

แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 1-4 และ 7-8 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5- 6 และ 9-10 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดเคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โทษจำคุก จึงให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสิบไว้คนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้ง 10 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าการเข้าไปในอาคารรัฐบาลและได้มีการปราศรัยต่อประชาชนนั้นก็เป็นการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่จะคัดค้านสนช.พิจารณากฎหมายและการชุมนุมแสดงความคิดเห็นก็ยังได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯด้วย

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อมาได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการนัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณากฎหมาย โดยจำเลยทั้ง 10 และผู้ชุมนุมหลายร้อยคน ได้ไปรวมตัวกันยังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อจะยื่นข้อเรียกร้องต่อ สนช.ในการคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายที่กลุ่มจำเลยเห็นว่าเป็นการเร่งรีบพิจารณาทั้งที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว ก็ควรที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้พิจารณา เพราะกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการชุมนุมดังกล่าวหลังจากที่มีผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปยังอาคารัฐสภาแล้ว จำเลยได้เข้าไปบริเวณหน้าห้องที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เมื่อมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ผลักประตูเข้าไปก่อน ขณะที่ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดูแลความเรียบร้อย ได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมและรับหนังสือของกลุ่มจำเลยที่เรียกร้องต่อ สนช.ให้ระงับการพิจารณากฎหมายดังกล่าวไว้แล้วต่อมาประธาน สนช.จึงยุติการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

ศาลเห็นว่า การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าว แม้จะมีการปีนรั้วกระทั่งเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะคัดค้านการประชุมของ สนช.ที่จำเลยเห็นว่าเร่งรีบพิจารณาออกกฎหมาย ขณะที่การเข้าไปในอาคารดังกล่าว ก็ไม่ได้มีอาวุธหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารรัฐสภา และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานส่วนอื่นของรัฐสภาจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยเมื่อมีการยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องแล้วจำเลยและผู้ชุมนุมก็ได้ออกมาจากอาคารรัฐสภาโดยสงบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ได้ให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงขาดเจตนา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตามความผิดมาตรา 215 วรรค 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ภายหลังนายจอน กล่าวว่า ดีใจมากและขอขอบคุณที่ศาลยกฟ้อง เพราะการชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นสามารถทำได้ ขณะนี้เป็นห่วงที่สนช.ชุดปัจจุบันจะออกกฎหมายตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน ต่อไปจะทำให้การชุมนุมหน้ารัฐสภาไม่สามารถทำได้อีก เพราะกฎหมายจะกำหนดระยะห่างจากรัฐสภาไว้

นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่า คำพิพากษาคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตว่าประชาชนสามารถแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพได้ ขณะนั้นพวกตนคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่ สนช.ในยุคนั้นเร่งพิจารณากฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญและกระทบต่อสิทธิของประชาชน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า สนช.ในชุดปัจจุบันจะมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

ด้านนายอำนาจ พละมี กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม การทำนโยบายสาธารณะจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การชุมนุมเมื่อ 7 ปี ที่แล้วเราคัดค้านการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และการออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมของประชาชนไม่ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น