xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจำคุก 1 ปี 4 เดือน-ให้รอลงอาญา “จอน อึ๊งภากรณ์” ยกพวกบุกรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลจำคุก 1 ปี 4 เดือน “จอน อึ๊งภากรณ์” ยกพวกบุกรัฐสภาปี 2550 ประท้วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่จำเลยทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี



ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (28 มี.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีบุกรัฐสภา หมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่ อัยการกองคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นาย จอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 63 ปี ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่ 1, นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 50 ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ 2, นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 52 ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 3, นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 31 ปี ที่ 4, นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 46 ปี ที่ 5, นาย นัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 37 ปี ที่ 6, นายอำนาจ พละมี อายุ 45 ปี ที่ 7, นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 56 ปี ที่ 8, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง อายุ 47 ปี ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. ที่ 9 และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 38 ปี กรรมการ กสทช.ที่ 10 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 10 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย

อัยการโจทก์ยื่นฟ้องสรุปความผิดว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2550 จำเลยทั้ง 10 กับพวกผู้ชุมนุม ได้มั่วสุมบริเวณถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา แล้วพวกจำเลยในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนหรือแกนนำม็อบ ได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงมาจอดปิดทางเข้าออกรัฐสภา ใช้โซ่ล่ามประตูเข้าออกไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ทำการรัฐสภา ทั้งยังได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาจำเลยกับพวก 100 กว่าคนได้บุกอาคารรัฐสภา จากนั้นได้ไปชุมนุมที่อาคาร 1 ชั้น 2 ที่ใช้เป็นที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดัน ทำให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติสั่งยุติและเลื่อนการประชุมในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2536 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) เกี่ยวกับการกระทำด้วยวาจาที่ติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีพยาน 33 ปาก แต่ไม่มีพยานใดยืนยันว่า จำเลย ยุยงหรือสั่งการให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภา แม้จะปรากฏภาพจำเลยที่ 7 พูดปราศรัยทำนองว่าให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปเยี่ยมชมรัฐสภา แต่เกิดหลังจากที่ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปแล้ว พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พวกจำเลยกระทำผิดฐานยุยงให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในอาคารรัฐสภา จึงไม่มีความผิดตาม ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 116 (3)

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยทั้ง 10 กระทำความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญหรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีเจ้าหน้าที่ รปภ.อาคารรัฐสภาเบิกความสอดคล้องกับภาพและวิดีโอที่บันทึกภาพไว้ขณะชุมนุมและปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา การที่จำเลยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 นั้น เห็นว่าการใช้เสรีภาพต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายไม่ใช่กระทำการใดๆ ก็ได้ การที่ผู้ชุมนุมนำโซ่ไปคล้องประตู ใช้บันไดปีนรั้ว ผลักกระจกเข้าไปในห้องโถงรัฐสภา แม้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่ก็ปรากฏความวุ่นวายในบริเวณดังกล่าว จนกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นการประทุษร้ายด้วย ทั้งเป็นสถานที่ราชการ การเข้าออกต้องได้รับอนุญาต การกระทำของผู้ชุมนุมจึงเป็นการละเมิด ไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า จำเลยทั้ง 1-4 ,7-8 ขึ้นปราศรัยมากกว่าผู้ชุมนุมคนอื่น แสดงถึงความเป็นหัวหน้าผู้สั่งการ ที่จำเลยทั้งสิบอ้างว่า ต้องการเรียกร้อง คัดค้านการร่างกฎหมายของ สนช. เห็นว่า พวกจำเลยทั้งยังไม่มีความจำเป็นต้องบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพราะการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาก็เพียงพอให้สาธารณะชนรับทราบแล้ว และยังไม่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ของ สนช. เป็นการล้มล้างการปกครองตามที่จำเลยอ้าง ทั้งปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ในการ่างกฎหมายก็มีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่และมีร่างกฎหมายหลายฉบับได้ตกไป การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอันสมควร จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4, 7-8 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรค 3 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท ส่วน จำเลยที่ 5-6 และ 9-10 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้1ใน3 คงลงโทษจำคุก จำเลย 1-4, 7-8 คนละ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5-6 และ 9-10 จำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดเคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 10 คนมีใบหน้ายิ้มแย้ม บางคนถึงกับร้องไห้ในห้องพิจารณาคดี โดยนายจอนกล่าวว่า วันนี้ศาลมีคำพิพากษาว่าตนมีความผิด แต่ตนก็รู้สึกสบายใจในสิ่งที่ได้กระทำ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่เคยใช้กำลังประทุษร้ายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่เคยคิดที่จะประท้วงใดๆ ที่ไม่สันติวิธี และก็เชื่อว่าพวกเราทั้ง 10 คนก็คิดเช่นเดียวกัน ที่ทำไปเพื่อแก้สถานการณ์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติเท่านั้น







กำลังโหลดความคิดเห็น