ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง “จอน อึ๊งภากรณ์ - สุภิญญา กลางณรงค์” พร้อมแนวร่วมพันธมิตรฯ บุกรุกปีนรั้ว และเข้าไปอาคารรัฐสภา ขณะประชุม สนช. เมื่อปี 2550
วันนี้ (26 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1092/2556
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ เป็นจำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ และผู้ถูกกล่าวหาอีก 9 คน ได้แก่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.
คดีดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2550 มีการชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายภาคประชาชนที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ต่อการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยภาคประชาชนเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติรีบพิจารณาผ่านร่างกฎหมายจำนวนมากอย่างเร่งด่วน โดยขาดการส่วนร่วมจากประชาชนโดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ
ต่อมามีประชาชนจำนวนมากปีนข้ามรั้วเข้าไปภายในรัฐสภาเพื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้น รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน และนำมาสู่การฟ้องคดีอาญา โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาบุกรุกรัฐสภา ยุยงให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมาย และชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนโดยเป็นแกนนำ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 มาตรา 116 (3) มาตรา 215 วรรคสามตามลำดับ) ศาลรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553
โดยศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ (ฝ่ายพนักงานอัยการ) และจำเลยทั้งสิ้นรวม 51 ปาก โดยเริ่มสืบพยานนัดแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 มีนาคม 2556 ในช่วงการสืบพยานมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีทั้งภายในและจากต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ศาลอาญามีคำพิพากษา “ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 คนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี”