xs
xsm
sm
md
lg

“สรยุทธ” ปัดรุกป่า ชูหนังสือรองอธิบดีกรมที่ดินเซ็นไฟเขียวมูนแดนซ์ อ้างฝายมีมาตั้งแต่ตอนซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิธีกรเรื่องเล่าเช้านี้ อาศัยรายการตัวเองแจงบ้านรุกป่าสงวน ยกโฉนด 6 แปลง พร้อมหนังสือกรมที่ดิน ยันรองอธิบดีฯ ปี 51 เซ็นไฟเขียว ชี้ 5 แปลงมูนแดนซ์ซื้อมี น.ส.3 ก. ชัดชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีกแปลง พร้อมที่ดินโครงการรวม 133 แปลง ได้การรับรองไม่เป็นที่ป่าไม้ ส่วนฝายกั้นลำธารไม่ได้สร้าง มีมานานแล้ว โวยทหารบุกรุกไร้หมายค้น

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อเวลาประมาณ 08.40 น. นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ได้ใช้ช่วงเวลาในรายการของตนเอง ชี้แจงกรณีที่มีการสอบสวนอสังหาริมทรัพย์ของตนบุกรุกป่าสงวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยอ้างว่าในฐานะที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีการพาดพิงอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น นายสุรยุทธ ได้เริ่มชี้แจง พร้อมภาพแสดงแปลงที่ดิน และโฉนดที่ดินของตน และยืนยันว่า ตนซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2551 เป็นการซื้อที่ดินจากโครงการมูนแดนซ์ ซึ่งมูนแดนซ์ไปซื้อมาจากสถาบันการเงินอีกที ที่มาที่ไปของโครงการก็ขอเวลาไปตรวจสอบ ก็ได้ข้อมูลมาจากโครงการและเอกสารที่ตนเก็บไว้ ตนซื้อมาทั้งหมด 6 แปลง ทุกแปลงเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งให้แก่บริษัท การ์เด้นโฮม รีสอร์ท จำกัด โดย 5 แปลงแรกมีการโอนจากบริษัท บริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ซึ่งก็แปลว่าผู้ที่ซื้อใหม่ก็คือโครงการมูนแดนซ์ ไปประมูลออกหรือไปซื้อมาจากสถาบันการเงิน แล้วเอามาขายต่อให้กับตน

นายสรยุทธ กล่าวต่อว่า แปลงที่ 6 เป็นการโอนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2554 อันเนื่องมาจากที่ดินของตนได้ซื้อจนกระทั่งโอบล้อมทางเข้าของหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมด หมู่บ้านก็ไม่ต้องการมีภาระในการดูแลถนนในโครงการ จึงมีการขายที่ดินแปลงนี้ให้กับตน ซึ่งที่ดินทุกแปลงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ที่มีการนำเสนอข่าวทำเสมือนว่าตนเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด โดยที่ดินของตนมีทั้งหมดราว 8 - 9 ไร่ ทั้งนี้ตนได้หนังสือมาจากเจ้าของโครงการเป็นหนังสือของกรมที่ดิน ที่มหาดไทย 0516.2 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2551 เป็นการแจ้งการออกหนังสือที่ดินเอกสารสิทธิ์ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อ้างถึงหนังสือของจังหวัด พร้อมสำเนาบันทึกกองนิติการ โดยสรุปก็คือเป็นการบอกเล่าของที่มาที่ไปของโครงการ อันเนื่องมาจากการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ลงนามโดยนายประทีป เจริญพร รองอธิบดีกรมที่ดิน ปฏิบัติราชการแทนกรมที่ดิน ซึ่งเจ้าของโครงการส่งมาให้ตนเพื่อยืนยันว่าที่ดินที่ขายให้ไม่มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย

นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า ที่ดินแปลงทั้งหมดของโครงการนี้โดยสภาพจะมาจาก น.ส.3 ก.ทั้งหมด 9 แปลง โดยพื้นที่ทั้งหมดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อพ.ศ.2506 ให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร แต่เมื่อมีการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว ส่วนของตนนี้ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 90 ในหนังสือกรมที่ดินได้ระบุว่า ออกให้นางรุจิรา พานิช เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2524 เปลี่ยนที่มาจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 29 ที่แบ่งมาจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 8 ออกเมื่อ 6 พ.ย. 2505 และ น.ส.3 ก. ฉบับนี้ออกสืบเนื่องมาจากหลักฐานเดิมก่อนมติ ครม. ที่ประกาศ จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิ์ในที่ดินที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน น.ส.3 ก. ฉบับนี้ จึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โฉนด จำนวน 53 แปลง ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ กล่าวว่า โฉนดของตนที่อาจจะมีประเด็นให้ต้องไปพิสูจน์หรือใช้ดุลยพินิจ คือแปลงแรกที่อยู่ริมสุด เลขที่ 15593 ส่วนอีก 5 แปลงอยู่ในกลุ่ม น.ส.3 ก.เลขที่ 90 ซึ่งมีหนังสือที่กรมที่ดินยืนยัน ส่วนแปลงที่มีปัญหาอยู่ที่กลุ่ม น.ส.3 ก.อีก 8 แปลง โดยเลขที่ 3238,3235 และ 3240 รวม 3 แปลง ออกให้นายสวาท ก้อนมณี และเลขที่ 3241 - 3243 อีก 3 แปลง ออกให้นายสละ อุบลรัตน์ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2532 ตามประมวลกฏหมายที่ดิน โดยไม่มีหลักฐานการครอบครองที่ดิน และ น.ส.3 ก .เลขที่ 3435 - 3436 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากเลขที่ 3241 รวมทั้งหมด 8 แปลง ได้ออกในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. 2506 อันเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าวจึงมิชอบและอาจถูกเพิกถอนได้

นายสรยุทธ กล่าวต่อว่า ในหนังสือระบุอีกว่า แต่เนื่องจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผล ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนตามมาตรา 42 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เมื่อพิจารณาปรากฏว่า ต่อมาครม.มีมติเมื่อ 3 มี.ค.2530 ให้จำแนกที่ดินดังกล่าวออกจากป่าไม้ถาวร ให้เป็นที่ดินทำกินของราษฎร โดยมอบให้ ส.ป.ก. ตามกฏหมาย ส.ป.ก. ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน 2534 ในพื้นที่ดังกล่าว สถานะของที่ดินบริเวณนี้ ก่อนจะมี พ.ร.ฎ. จึงเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 1304 (1) แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ที่อยู่นอกเขตหวงห้าม ตามมติ ครม. ซึ่งบุคคลอาจได้มาตามกฏหมายที่ดิน มาตรา 1334 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่ดิน ว่าที่ดินได้ออก น.ส.3 ก. ไปแล้ว ไม่เป็นที่หวงห้ามอันต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หากมีการดำเนินการเกี่ยวกับ น.ส.3 ก. ดังกล่าวจำนวน 133 แปลง ซึ่งออกสืบเนื่องจาก น.ส.3 ก. นั้น คู่กรณีก็สามารถขอให้พิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินใหม่ได้ โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว

นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า จากหนังสือของกรมที่ดินได้สรุปว่า ฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน ตลอดจนให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฏบัญญัติและเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2535 จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฏหมายที่ดินแต่ประการใด ทั้งหมดนี้ตนก็อ้างอิงจากหนังสือของทางราชการคงจะพอเข้าใจโดยสังเขป

“ในฐานะประชาชน เมื่ออยู่ในประเทศนี้ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจะตรวจสอบก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ถึงแม้ว่าการนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่นั้น ตนเข้าใจดี การที่จะเข้าไปตรวจค้นทำได้เฉพาะ 3 กรณีโดยไม่มีหมายค้น นั่นก็คือ 1. ผิดกฎหมายมาตรา 112 หมิ่นสถาบัน 2. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งก็หมายถึงกรณีอย่างระเบิด และ 3.ฝ่าฝืนประกาศ คสช.เพราะฉะนันกรณีอื่นๆ แม้กระทั่งเรื่องป่าไม้ ยังไม่มีกฎหมายอันไหนให้อำนาจเจ้าหน้าที่เจ้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น” นายสรยุทธ กล่าว

ส่วนกรณีเรื่องฝายกั้นลำห้วยสาธารณะนั้น นายสรยุทธ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ที่ดินปัจจุบันยังคงสภาพเดิมก่อนซื้อทุกประการ โดยโครงการก็ยืนยันว่าตอนที่ซื้อที่ดินมามันก็มีอยู่แล้ว และก็มีหลายแห่ง อย่างในที่ของตนก็กลายเป็นบึงขนาดใหญ่ ตอนที่ตนไปซื้อมามันก็มีอยู่แล้ว แต่ตนก็พร้อมให้มีการตรวจสอบตามขั้นตอน และยืนยันว่า บ้านของตนไม่ได้ขวางทางน้ำ ถ้าใครไปสร้างขวางไม่โง่ก็บ้าแล้ว ทั้งนี้ตนกลับถูกได้รับการตรวจสอบก่อนแบบเอาจริงเอาจัง

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่นายสรยุทธ อ้างถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่นั้น ทีมข่าวได้ตรวจสอบพบว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4 /2558 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนให้อำนาจทหารเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557









กำลังโหลดความคิดเห็น