xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่งการ 10 ข้อผ่านคอนเฟอเรนซ์ ช่วยผู้ประสบภัยในเนปาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” สั่งการ 10 ข้อผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมไปยังสถานทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ติดตามการให้ความช่วยเหลือจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงต่อความต้องการ

วันนี้ (30 เม.ย.) เว็บไซต์รัฐบาลไทย www.thaigov.go.th เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีทัศน์ผ่านดาวเทียมไปยังสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศเนปาล

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณทีมประเทศไทยและหน่วยทหารชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ ประเทศเนปาล พร้อมกำชับทุกฝ่ายช่วยกันดูแลคนไทยที่อยู่ในเนปาล ทั้งนักศึกษา แรงงานไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เป็นอย่างดี สำหรับยอดเงินบริจาคล่าสุดในขณะนี้ ประกอบไปด้วย เงินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท เงินให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เป็นจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และวงเงินเพิ่มอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่เนปาล รวมทั้งเงินบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ อีก 70 ล้านบาท

นายวุตติ วุตติสันค์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุดในเนปาลว่า ขณะนี้ มียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 5,000 ราย บาดเจ็บ 12,000 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 280,000 ราย ความสูญเสียครอบคลุมพื้นที่ 39 จังหวัด (district) จากทั้งสิ้น 75 จังหวัด โดยงบประมาณที่เนปาลต้องการจากภายนอกเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 415 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสิ่งของบริจาคที่เนปาลมีความต้องการในขณะนี้ คือ น้ำ อาหาร ยา เต็นท์และผ้าห่ม โดยเฉพาะเต็นท์และผ้าห่ม มีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากอากาศที่เย็นลงและมีฝนตก สำหรับการให้ความช่วยเหลือแก่คนไทย ขณะนี้ ได้ส่งคนไทยกลับประเทศแล้วทั้งสิ้น 83 คน และในวันนี้จะส่งกลับอีก 14 คน โดย 7 คนจะเดินทางกลับโดยสารการบินไทย และอีก 7 คนจะกลับโดยเครื่องบินทหาร (C-130)

พล.ต.ปริญญา ขุนนาศรี หัวหน้าชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาลได้รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เนปาลอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระหว่างการกู้ภัยไปสู่การฟื้นฟู ในขณะที่สถานการณ์ทั่วไปในเนปาลเริ่มดีขึ้น การเกิด aftershock น้อยลง จากเดิม 150 ครั้งต่อวัน โดยชุดให้ความช่วยเหลือได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 58 โดยระหว่างการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ชุดช่วยเหลือฯ ได้พบกับนายกรัฐมนตรีเนปาลซึ่งได้กล่าวถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมกล่าวขอบคุณชาวไทยสำหรับความช่วยเหลือ และฝากความระลึกถึงนายกรัฐมนตรีมา ณ ที่นี้ด้วย ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ยังมีอุปสรรคด้านการสื่อสารและการเคลื่อนย้ายหน่วยเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ

โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อประสานงานกับทางเนปาลและอีก 15 ประเทศที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ โดยย้ำความสำคัญของการประสานงานด้านการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของเนปาล 10 ข้อดังนี้ 1. การประสานงานการจัดระเบียบบริเวณสนามบินเพื่อลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ 2. การกระจายสิ่งของบริจาคให้ทั่วถึงผู้ประสบภัยในพื้นที่ทุกจุดอย่างทั่วถึง 3. สถานการณ์โรคระบาด ที่จะทวีความรุนแรงขึ้น อาจมีปริมาณความต้องการยาและแพทย์สนามเพิ่มขึ้น 4. การให้ความช่วยเหลือด้านการติดต่อสื่อสารแก่เนปาล และการเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารระหว่างทีมงานของฝ่ายไทย 5. การประสานด้านการให้ความช่วยเหลือในการรื้อถอนและฟื้นฟู ซึ่งรวมถึง กำลังพล ถุงมือและเครื่องมือรื้นถอนต่างๆ มีเพียงพอหรือไม่

6. การวางแผนด้านการจัดหาและการลำเลียงน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ซึ่งต่อไปอาจต้องเน้นการวางแผนการลำเลียงน้ำจากแหล่งใกล้เคียง แทนการจัดส่งจากไทยเพียงอย่างเดียว 7. การจัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มให้แก่ผู้ประสบภัย เนื่องจากอากาศหนาวในพื้นที่ 8. การจัดหาอุปกรณ์ดำรงชีพที่สำคัญ เช่น เต็นท์ ที่นอน แผ่นยาง รองเท้าแตะ ผ้าพลาสติกกันฝน เนื่องจากชาวเนปาลยังไม่กล้ากลับเข้าไปนอนในอาคาร 9. การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ปัจจุบันเราได้ส่งอาหารสำเร็จรูปไปช่วยเหลือในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวต้องวางแผนเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นได้ ซึ่งขณะนี้เรามีข้าวสารจำนวนมากทีสามารถส่งไปช่วยเหลือเขาได้ 10. ช่องทางอื่นๆ ในการขนส่งสิ่งของ ในระยะยาว อาจต้องวางแผนเพิ่มช่องทางการขนส่งทางอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ทางเรือในบริเวณประเทศใกล้เคียง สำหรับของที่มีจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชุดให้ความช่วยเหลือ โดยกำชับให้ระมัดระวังตัวจากอุบัติเหตุและโรคระบาด จากการปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย และขอให้มีการรายงานความคืบหน้า อุปสรรคและความต้องการมาเป็นระยะ เนื่องจากไทยมีความห่วงใยต่อเนปาลในฐานะมิตรประเทศที่ใกล้ชิด









กำลังโหลดความคิดเห็น