เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีเนปาลคาดหมายว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศของเขาอาจถึง 10,000 คน ขณะที่ตัวเลขทางการที่ออกมาตอนค่ำวันอังคาร (28 เม.ย.) ทะลุหลัก 5,000 ราย รวมทั้งยังมีข่าวล่าสุดว่าเกิดหิมะถล่มครั้งใหม่ในเส้นทางไต่เขายอดนิยมซึ่งทำให้มีคนสูญหายไป 250 คน ในเวลาเดียวกัน ผู้นำเนปาลยอมรับว่าแม้ระดมสรรพกำลังก็ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ได้พร้อมกัน นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสนามบินกาฐมาณฑุที่แออัดยังเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงความช่วยเหลือจากต่างชาติ ส่วนชาวบ้านตามท้องที่ต่างๆ รู้สึกไม่พอใจมากขึ้นกับความล่าช้าของรัฐบาล ชวนกันขุดค้นหาญาติมิตรใต้ซากปรักหักพังด้วยมือเปล่า ตลอดจนเรียกร้องขอความช่วยเหลือซึ่งยังมาไม่ถึงแม้ธรณีพิโรธผ่านพ้นไป 4 วันแล้ว
รัฐบาลยังไม่สามารถที่จะประเมินขนาดของความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวระดับความรุนแรง 7.8 ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ (25) เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เขตเขาจำนวนมาก ถึงแม้มีสิ่งของช่วยเหลือและบุคลากรด้านต่างๆ หลั่งไหลกันเข้ามาจากทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีสุชิล คอยราลาของเนปาล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคาร (28) ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะทะลุหลัก 10,000 คน ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารเรื่องความเสียหายจากหมู่บ้านและตำบลห่างไกลยังคงมาไม่ถึง
เขาบอกว่ารัฐบาลกำลังพยายามอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้แล้วในการค้นหาและกู้ภัย แต่การส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ทุรกันดารเป็นภารกิจที่ท้าทายและยากลำบากมาก
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการออกมาแล้วนั้น จนถึงช่วงค่ำวันอังคาร เฉพาะในเนปาลประเทศเดียวยอดอยู่ที่ 5,057 คน ในจำนวนนี้เป็นนักปีนเขา 18 คนที่ถูกหิมะถล่มบนเอเวอเรสต์ ขณะที่นักปีนเขาที่รอดชีวิตนั้นได้รับการอพยพด้วยเฮลิคอปเตอร์ลงมาทั้งหมดแล้ว สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีกราว 100 รายในประเทศเพื่อนบ้าน โดยแบ่งเป็นชาวอินเดีย 73 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในเขตปกครองทิเบตของจีนเพิ่มเป็น 25 คน
ในช่วงเย็นวันอังคาร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเนปาลรายงานว่า ได้เกิดหิมะถล่มในตอนบ่ายวันนั้นที่เขตโกดาตาเบลา ซึ่งเป็นพื้นที่บนเส้นทางไต่เขา “ลังตัง” ซึ่งได้รับความนิยมกันมาก และเกรงว่ามีคนสูญหายไปราว 250 คน ทั้งนี้เทือกเขาลังตัง ตั้งอยู่ค่อนข้างใกล้กับกรุงกาฐมาณฑุ และเป็นที่นิยมในหมู่นักปีนเขาต่างชาติ
สหประชาชาติประมาณการว่า นอกจากผู้บาดเจ็บล้มตายแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงนี้ถึง 8 ล้านคน และ 1.4 ล้านคนต้องการอาหาร พร้อมกันนี้ ยูเอ็นยังจัดสรรเงินจากกองทุนฉุกเฉินให้เนปาล 15 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้องค์กรด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติเร่งรัดปฏิบัติการ รวมทั้งจัดหาที่พักพิง น้ำ ยา และบริการด้านโลจิสติกส์
เฟอร์ฮัน ฮัก โฆษกยูเอ็นแถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ทีมงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นในเนปาลจะประสานงานกับรัฐบาลเนปาล เพื่อวางกรอบโครงปฏิบัติการบรรเทาทุกข์โดยรวมที่ชัดเจนขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง โดยภารกิจสำคัญที่สุดคือการค้นหาและกู้ภัย
เวลานี้ประเทศนับสิบจากทั่วโลก เข้าร่วมปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในเนปาล ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชีย โดยมีเพื่อนบ้านอินเดียรับบทนำ
เครื่องบินทหารจากนานาประเทศ เช่น อเมริกา จีน และแม้แต่อิสราเอล พร้อมใจเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา ประกาศบริจาคเงิน 10 ล้านดอลลาร์ช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว และบอกว่าช็อกกับภาพผู้เสียชีวิตและความเสียหายของเนปาล
ออสเตรเลียแถลงเมื่อวันอังคารเพิ่มความช่วยเหลือเป็น 4.7 ล้านดอลลาร์ พร้อมส่งเครื่องบินทหารเพื่อนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้ผู้ประสบภัยและรับพลเมืองที่ติดค้างกลับประเทศ
อย่างไรก็ตาม รันเวย์ที่แน่นขนัดในสนามบินนานาชาติกาฐมาณฑุ กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการลำเลียงความช่วยเหลือเข้าสู่เนปาล สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเผยว่า ทีมบรรเทาภัยพิบัติพยายามนำเครื่องบินลงจอดในกาฐมาณฑุเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันอังคาร หลังจากสองครั้งแรกต้องวกกลับเนื่องจากสนามบินแออัด
นายกรัฐมนตรีคอยราลา แถลงในที่ประชุมฉุกเฉินที่รวมสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองว่า รัฐบาลได้จัดส่งเต็นท์ น้ำ และอาหารไปให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยแล้ว แต่ยอมรับว่า ไม่สามารถตอบสนองการร้องขอความช่วยเหลือที่ประเดประดังเข้ามาจากทุกสารทิศพร้อมกัน เนื่องจากขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัย
ขณะเดียวกัน ด้วยความหวาดกลัวว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำและอาหารจะรุนแรงขึ้น ชาวเนปาลในกาฐมาณฑุจำนวนมากจึงแห่ซื้อของกักตุน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครอบครัวเก็บข้าวของที่เหลืออยู่ขึ้นรถโดยสารมุ่งหน้าออกนอกเมือง ขณะที่พวกที่ยังอยู่ในเมืองหลวงต้องนอนในเต็นท์กลางแจ้ง สวนสาธารณะ และพื้นที่เปิดโล่งอื่นๆ เนื่องจากบ้านเรือนพังทลาย หรือไม่ก็กลัวอาฟเตอร์ช็อกจนไม่กล้ากลับเข้าบ้าน
ที่เมืองกูรข่า หนึ่งในเขตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ชาวบ้านที่เสียขวัญต่างวิ่งกางแขนเข้าหาเฮลิคอปเตอร์ทหารที่นำอาหารและน้ำไปแจกจ่าย
อาฟเตอร์ช็อกที่ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ ความเสียหายรุนแรง โครงสร้างพื้นฐานซึ่งพังร้าวไปจำนวนมาก การขาดแคลนเงินทุน ตลอดจนถึงฝนที่ตกลงมา ส่งผลให้ปฏิบัติการกู้ภัยล่าช้า ชาวกาฐมาณฑุบางส่วนที่ไม่พอใจและวิจารณ์ความล่าช้าของรัฐบาลมากขึ้น จึงตัดสินใจเลิกรอความช่วยเหลือและลงมือขุดค้นซากปรักหักพังด้วยมือเปล่าเพื่อค้นหาญาติมิตร
โอ. พี. ซิงห์ ผู้อำนวยการกองกำลังรับมือภัยพิบัติแห่งชาติของอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรจากต่างชาติที่เดินทางถึงเนปาลกลุ่มแรกๆ กล่าวว่า การค้นหาผู้รอดชีวิตและร่างผู้เสียชีวิตอาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ เนื่องจากไม่สามารถลำเลียงอุปกรณ์หนักผ่านถนนที่คับแคบของกาฐมาณฑุเข้าสู่พื้นที่ประสบภัยบางจุดได้
อย่างไรก็ดี ในกาฐมาณฑุมีสัญญาณของการเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอยู่บ้าง โดยที่มีแผงขายผลไม้เริ่มปรากฏให้เห็นบนถนนหลักบางสาย และรถประจำทางกลับมาให้บริการอีกครั้ง