xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ฉะ ขรก.ตั้งกันเองมีรัฐราชการ ไม่ยึดโยง ปชช.-กมธ.ยกร่างฯ อ้างแก้ย้ายไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อภิปรายร่าง รธน.วันที่ 3 สปช.รุมท้วง คกก.ตั้ง ขรก. แยกสัมพันธ์การเมือง-ขรก. ก่อเกิดพรรคราชการ ติงระบบตั้งปลัดกระทรวงไม่เชื่อมโยง ปชช. แนะมี รมต.นั่งเป็น คกก.ด้วย ค้าน คกก.กลั่นกรอง ส.ว. ด้าน กมธ.ยกร่างฯ รับอังกฤษแนะ ขรก.ตั้งกันเอง รายละเอียดใน กม.ลูก ชี้ คกก.ไม่ได้ตั้งโดยตรง ยันมีความหลากหลาย ปัดรัฐราชการครอบงำ อ้างกัน รบ.ย้ายไม่เป็นธรรมแบบเหตุ “ถวิล”

วันนี้ (22 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 3 ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ว่าด้วยหมวด 2 แนวนโบบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้มีสมาชิก สปช.หลายคนท้วงติงกรณีคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายตามระบบคุณธรรมตามมาตรา 207 ซึ่งมีการวิพากษ์ว่าเป็นการแยกอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ และจะทำให้กลายเป็นพรรคราชการเป็นใหญ่ หรือเกิดเป็นรัฐราชการนั้น ด้านกรรมาธิการยกร่างได้ชี้แจงโดยระบุว่านำต้นแบบสากลจากอังกฤษและเครือจักรภพ ตัวกรรมการไม่ได้มากจากข้าราชการทั้งหมด รวมทั้งไม่ตัดสิทธิของรัฐมนตรีที่จะเสนอชื่อบุคคลแข่ง เพียงแต่ให้หลักประกันการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงให้ได้คนที่เป็นกลาง ไม่ได้มาจากการวิ่งเต้นหรือเกื้อหนุนของนักการเมือง จนเกิดปัญหาการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิก สปช.อภิปรายเรื่องที่มา ส.ว.ว่า ตนเคยเป็นวุฒิสภาสายเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง ก็พอจะเข้าใจบริบท ส.ว.เลือกตั้ง เห็นด้วยกับให้มีการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด แต่ไม่เห็นด้วยให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง เนื่องจากจะสร้างปัญหา ความขัดแย้ง และทำให้เลือกตั้งมีปัญหาในการร้องเรียน เพราะไม่ได้กำหนดที่มา องค์ประกอบ บทบาทหน้าที่อย่างไร และมาจากไหน แต่ขอตัดคณะกรรมการกลั่นกรองออกไป และให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง

“สมัยที่ผมเป็น ส.ว.เลือกตั้งปี 51 อยากถามว่าทั้ง 70 กว่าคน ขาดคุณธรรมขนาดนั้นเลย หรือจึงต้องมากำหนดหลักเกณฑ์มากขนาดนี้ในรัฐธรรมนูญ ผมขอรับรองสมาชิก ส.ว.ที่เข้ามาชุดเดียวกับผมว่าเป็นคนดี”

นายประเสริฐกล่าวว่า การแต่งตั้งข้าราชการะดับปลัดกระทรวง ตามมาตรา 207 ตนเห็นว่าไม่เชื่อมโยงอำนาจของฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชน เพราะให้อำนาจวุฒิสภา แต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรผู้ที่จะเข้ามาเป็นปลัดกระทรวงจะทำให้ฝ่ายการเมือง แยกจากข้าราชการประจำจนเกินไป จึงเสนอว่าในคณะกรรมการคัดสรรในกระทรวงใดๆ ควรมีรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นนั่งเป็นคณะกรรมการคัดสรรด้วย เพราะมิเช่นนั้นรัฐมนตรีจะทำงานไม่ได้

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่าการให้ข้าราชการแต่งตั้งกันเองเป็นข้อเสนอที่รับมาจากเอกอัคราชทูตอังกฤษ ที่ระบุว่ามีใช้ในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย เป็นต้น เพียงแต่ยังไม่ได้เขียนสิ้นกระแสความในรัฐธรรมนูญ เหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญของนายกฯ และรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่าจะมีรายละเอียดปรากฏในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

นายปรีชา วัชราภัย รองประธานกรรมาธิการยกร่างฯ จาก ก.พ.ชี้แจงว่า ที่ห่วงใยว่าคณะกรรมการแต่งตั้งระบบคุณธรรมตามมาตรา 207 จะทำให้เกิดรัฐราชการ หรือราชการเป็นใหญ่โดยที่รัฐมนตรี นายกฯ ไม่อาจเกี่ยวข้องนั้น ขอชี้แจงว่าในร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงหลักการ โดยรายละเอียดจะไปใส่ในกฎหมายประกอบเพิ่มเติม ซึ่งระบบการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการของราชการไทยใช้กับข้าราชการทุกระดับ มีเพียงปลัดกระทรวง 19 กระทรวงยกเว้นกลาโหมที่ไม่ได้แต่งตั้งโดยระบบคณะกรรมการ ในอดีตกำหนดเพียงให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง หากใช้ตามระบบอาวุโส ตามความสามารถก็ไม่มีปัญหา แต่ระยะหลังมีเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับการแต่งตั้งไม่เป็นธรรม

นายปรีชากล่าวว่า คณะกรรมการแต่งตั้งโดยระบบคุณธรรมฯ เองก็ไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งโดยตรง แต่จะอำนวยระเบียบต่างๆ ให้รัฐมนตรีนำเสนอนายกฯ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมี 3 ฝ่าย คือ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ก.พ.3 คน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ จากอดีตปลัดกระทรวงเลือกกันเองมา 3 คน ปัจจุบันมีอดีตปลัด 150 คน และจากประธานกรรมการจริยธรรมในแต่ละกระทรวง ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าคนเลือกกันเองให้ได้ 2 คน โดยปัจจุบันใน 200 คนก็มีคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการจำนวนมาก จึงมีความหลากหลายไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น ส่วนการดำเนินการก็ต้องขอความเห็นรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงนั้นว่ากำลังทำนโยบายอะไร แผนงานโครงการอย่างไร และเห็นว่าบุคคลใดเหมาะสม รวมทั้งขอความเห็นจากปลัดกระทรวงที่จะพ้นจากตำแหน่งว่าเตรียมใครเป็นผู้สืบทอด ทั้งนี้จะไม่ให้เป็นระบบปิด อาจเปิดให้อธิบดี หรือรองปลัดในต่างกระทรวงมายื่นใบสมัครได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความสามารถ ทดสอบสมรรถภาพอย่างที่ภาคเอกชนทดสอบกับซีอีโอ เป็นต้น

“สิ่งที่คิดมานี้มีประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบ โดย ก.พ.ของสหราชอาณาจักร ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่จะใช้เพียงประเทศเดียว ไม่ได้เป็นอมาตยาธิปไตยที่รัฐราชการครอบงำ เพราะเมื่อดำเนินการเสร็จต้องส่งรายชื่อ 3 คนให้นายกรัฐมนตรีเลือก หากนายกฯ ไม่ถูกใจยังให้กลับมาทบทวนอีกได้ โดยหวังว่าได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ มีลำดับขั้นตอน ดูกันอย่างถี่ถ้วน มีองค์คณะช่วยพิจารณา ย่อมดีกว่าให้รัฐมนตรีเสนอชื่อคนเดียว” นายปรีชาระบุ

ขณะที่นายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงมูลเหตุที่มาว่า เมื่อคราวได้พบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ทางทูตอังกฤษได้ถามถึงระบบการแต่งตั้งข้าราชการเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี โดย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ถามกลับไปว่าอังกฤษทำยังไง ได้รับการชี้แจงว่านักการเมืองจะไม่ก้าวล่วงมาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง แต่มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมาพิจารณา เพื่อการทำหน้าที่ไม่ลำเอียงและเลือกปฏิบัติ โดยนายกฯ ก็อาจไม่เห็นด้วย แต่ต้องเทียบว่าคนที่รัฐมนตรีเลือกดีกว่าอย่างไร

“ไม่เชื่อมโยงกับการเมืองโดยตรง แต่ก็ไม่ได้ตัดการเมืองทิ้ง แต่คณะกรรมการชุดจะทำให้ได้ข้าราชการที่มาทำงานแบบไม่เลือกข้าง หรือวิ่งขอตำแหน่งโดยนักการเมืองเอื้อประโยชน์ให้ เพื่อทำงานให้กับประชาชนอย่างไม่แบ่งฝ่าย เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และทำให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับนานาประเทศแถบยุโรปและออสเตรเลีย” นายเจษฎ์กล่าว

นายณรงค์ พุทธชีวิน สมาชิก สปช.ทักท้วงว่า การชี้แจงไม่ถูกต้อง ขอใช้สิทธิ์ท้วงติงเพราะเกรงว่าข้อเสนอของตนจะไม่ได้รับการแก้ไขและเพื่อความเข้าใจของสังคมว่า อังกฤษไม่ได้มีรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ แต่เป็นรัฐธรรมนูญแบบจารีต ตนเห็นด้วยว่าควรมีคณะกรรมการแบบนี้ แต่ต้องเขียนว่าจะต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีด้วย ดังนั้นควรเขียนว่าเมื่อคณะกรรมการนี้มีความเห็นอย่างไรก็ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรี หากเห็นชอบก็เสนอต่อนายกฯ แต่หากไม่เห็นชอบก็ท้วงติงมา อย่าลืมว่าอำนาจรัฐมนตรีคืออำนาจประชาชนที่ใช้ผ่านการบริหาร

















กำลังโหลดความคิดเห็น