แถลงผลประชุม ครม. รับ 3 ปัญหาชาวประจวบฯ ไปดำเนินการ สั่งรายงานผลการใช้งบ สปสช. เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 2558 - 2565 พร้อมแอกชันแพลน 59 โครงการเน้นมีสัญญาคุณธรรม พร้อมสั่งให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าสู่ระบบภาษี ภ.ง.ด.9 อีกด้านเห็นชอบจุดผ่อนปรนด่านสิงขร รณรงค์แต่งกายสุภาพเล่นสงกรานต์ อนุมัติแผน สมช. นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรครั้งแรก ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงการลงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยชาวบ้านได้มีข้อร้องขอ 3 ประเด็น ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องไว้ทั้งหมด คือ 1. กรณีพ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบต่อการจัดระเบียบถนนทำให้ขายของลำบาก เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถจอดรถได้ นายกฯจึงมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสานกับส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาที่จอดรถให้เพื่อแก้ปัญหา
2. เรือประมงเรือ 30 ตันกรอส ลงมาไม่ต้องติดจีพีเอส แต่ถ้ามีเก็งครอบอยู่จำเป็นติดจีพีเอสซึ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน นายกรัฐมนตรี รับไปหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อออกกฎหมายให้รัดกุม 3. การก่อสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 900 ไร่ จึงมีความประสงค์จะตั้งมหาวิทยาลัย นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณา โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะสร้างถวายวาระเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 90 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกันนี้ ในเรื่องปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือสถนาการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้เรื่องนี้เป็นวาระของอาเซียนที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณกองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องรายงานผลการใช้งบประมาณของกองทุน สปสช. ภายใน 15 วัน ว่า การใช้งบประมาณถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะแก้ไขอย่างไร และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก แล้วเมื่อได้ผลอย่างไรจะต้องมาทำกติกาที่เหมาะสม เพื่อให้การใช้เงินกองทุนสามารถสร้างประโยชน์ต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ใครที่ไม่มีความผิดอะไรจะได้กลับไปทำงานที่เดิม
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 เพื่อใช้เป็นกรอบการลงทุนและการดำเนินงานในระยะเวลา 8 ปี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติ โดยคิดเป็นวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,912,681.79 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ โครงการลงทุนคมนาคมพื้นฐาน 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาลครั้งนี้จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ทั้งการลงทุน การจ้างงาน การขนส่งสินค้าทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งแก้ปัญหาการจราจรทั้งกรุงเทพมหานคร และเชื่อมโครงข่ายเส้นทางทั่วประเทศไทย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ 1. การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ 2. การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม. และปริมณฑล อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การจัดซื้อรถโดยสารประจำทองเชื้อเพลิง NGV 3,183 คัน การสร้างถนน สะพานในกทม.และปริมณฑล 3. การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสนับสนุนการเกษตรและการท่องเที่ยว (Royal Coast) โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ 4. การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ อาทิ ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ท่าเรือจังหวัดอ่างทอง ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่(Cruise) จังหวัดกระบี่ และเกาะสมุย ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และ 5. การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต แม่สอด และโครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จ.ยะลา
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาวงเงินลงทุนนั้น รัฐบาลมีนโยบายรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ พร้อมเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง ซึ่งในส่วนของวงเงินลงทุนจะมาจาก 4 แหล่ง คือ งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล จำนวน 5.4 แสนล้านบาท, แผนบริหารหนี้สาธารณะ 9.86 แสนล้านบาท, เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ 8.5 หมื่นล้านบาท และ การร่วมทุนภาคเอกชน (PPP) อีก 2.98 แสนล้านบาท
“แผนการลงทุนครั้งนี้จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ของประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 14.4 จะเหลือร้อยละ 2 ในปี 2570 สัดส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล จะลดลงจากปัจจุบัน ร้อยละ 59 เหลือเพียงร้อยละ 40 ในปี 2570 ลดความสูญเสียการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยประชาชนจะได้รับความสะดวก ในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และระบบราง ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้า และรถโดยสาร จะเพิ่มขิ้น มีการเชื่อมต่อโครงข่ายถนนกับอาเซียน ทำให้ปริมาณการค้าชายแดนสูงขึ้น และสนามบินพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศได้มากขึ้น จากปัจจุบัน อยู่ที่ 63 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคนต่อปี ในปี 2559 รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558 (แอกชันแพลน) มีทั้งสิ้น 59 โครงการ คิดเป็นกรอบวงเงินลงทุนมูลค่า 847,672 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงข่ายคมนาคมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล โครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางและขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ตามกรอบวงเงินลงทุนทั้งหมดของแอกชัน ครั้งนี้จะเป็นเงินลงทุนที่มีแหล่งเงินรองรับและพร้อมดำเนินการได้ทันทีในปี 2558 นี้ จำนวน 55,986.64 ล้านบาท กรอบวงเงินส่วนที่เหลือนั้นจะเป็นวงเงินลงทุนลักษณะผูกพันข้ามปี ตั้งแต่ปี 2559 - 2565 ที่หน่วยงานรับผิดชอบจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการตามแอกชัน โครงสร้างพื้นฐานปีนี้จำนวน 59 โครงการ โดยหลายโครงการมีการก่อสร้างที่คืบหน้าไปมาก ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการประกวดราคา การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการออกแบบ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2558 โดยโครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ ดำเนินการแล้วมีระยะทางรวม 164 กิโลเมตร, การบูรณะบำรุงรักษาทางหลวง979 กิโลเมตร , ก่อสร้างทางหลวงเพื่อสนับสนุนการเกษตรและท่องเที่ยว 931กิโลเมตร ประกวดราคารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน4 เส้นทาง อาทิ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต, รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - หัวหมาก สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ส่วนรถไฟทางคู่ในระยะเร่งด่วน ได้ดำเนินการแล้ว 2 เส้นทาง คือชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร, การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา - มาบตาพุด, การศึกษาความเหมาะสมก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในเมืองชายแดนและเมืองหลัก, รับมอบรถโดยสารประจำทางเอ็นจีวี จำนวน 489 คัน การสร้างความปลอดภัยระบบจราจรทั่วประเทศ จุดตัดทางรถไฟ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและลานจอดอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น
“สิ่งสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญพิเศษ ในการเดินหน้าตาม Action Plan คือ ต้องมี “สัญญาคุณธรรม” เป็นสัญญาที่ทำขึ้นควบคู่กับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ลงนามมี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ และตัวแทนองค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นภาคประชาชน โดยให้มีผลในเชิงกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตามด้วยความโปร่งใสหรือให้สังคมตรวจสอบได้ ก็จะถือว่าต้องมีโทษ สัญญาคุณธรรมนี้ได้นำร่องไปแล้วใน 2 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย โดยหลังจากนี้หากโครงการลงทุนใดที่พร้อมจะลงนามทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ก็ให้ยึดถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ โดยทุกฝ่ายส่งตัวแทนเข้าร่วมลงนามในสัญญาคุณธรรม ถ้าภาคประชาชนเกิดความสงสัยโครงการใด ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันที เพื่อสร้างความโปร่งใส” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พูดในที่ประชุม ครม. ถึงเรื่องภาษีเงินได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี อยากให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าสู่ระบบภาษี ภ.ง.ด.9 โดยกำหนดว่าผู้ที่เสียภาษีคือบุคคลที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีก็ต้องเสีย ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ต้องไม่เสียภาษี ซึ่งข้อดีของการเข้าสู่ระบบ ภ.ง.ด.9 คือ ทำให้ทุกคนมีบัญชีรายชื่อที่สามารถผูกพันกับรัฐ เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่รัฐบาลมีโครงการต่างๆ ที่จะอำนวยประโยชน์และสิทธิให้กับประชาชน ทุกคนจะไม่ตกหล่นในการสำรวจ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนากรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบจุดผ่อนปรนด่านสิงขร ไทย - เมียนมาร์ ประกอบด้วย ยกเว้นหนังสือเดินทาง พาสปอร์ต ยกเว้นบัตรผ่านแดนและสามารถพำนักในประเทศได้ 1 ปี ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนปรนทางการค้าของด่านสิงขร ระหว่างไทย และเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม ทีประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมช. รับไปดำเนินการต่อไป
ขณะเดียวกัน ครม. อนุมัติงบกลาง เพื่อการเตรียมและส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในเดือน มิ.ย. นี้ ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 11 ประเทศ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นจ้าวเหรียญทองในกีฬาสากลมาโดยตลอด โดยโครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 308.3 ล้านบาท ทางสำนักงบประมาณเห็นควรใช้จ่ายจากงบใช้จ่ายประจำปี58 ที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับจัดสรรแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 207 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบรายจ่ายปี 57 งบกลาง ที่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติทางการเงินไว้ 107 ล้านบาทเศษ
นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารณรงค์เพื่อส่งเสริมประชาชนถึง แนวทางการเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์สานวิถีไทย โดยให้เป็นการปฏิบัติที่เคร่งครัดในการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม และสอดคล้องกับวัฒนธรรมที่มีมาดั่งเดิม ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยววิถีไท โดยหลักสำคัญคือ การแต่งกายให้สุภาพ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม รณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง เสื้อลายดอก ห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอลในบริเวณที่จัดกิจกรรม การห้ามเล่นน้ำโดยมีแป้ง น้ำแข็ง และโฟมเจือปน การห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงโดยรณรงค์ให้ใช้ขันน้ำตามประเพณีดั่งเดิม ห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำไปในที่ชุมชน การแสดงภาพลักษณที่เหมาะสม ไม่ให้มีการแสดงหรือการเต้นที่ไม่เหมาะสม และขอให้มีการหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาล
ด้าน นายอนุสิษฐ์ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติแผนที่ สมช. เสนอ คือ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายในภาพใหญ่ในการที่จะกำหนดกรอบและแนวทางให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ไปดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว อาทิ เรื่องของสถาบันหลักของชาติ เรื่องผู้หลบหนีเข้าเมือง เรื่องของการก่อการร้าย เรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม เรื่องการเตรียมความพร้อมให้ชาติเมื่อเผชิญวิกฤตด้านต่างๆ เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยคุกคามใหม่ๆ เหล่านี้คือกรอบโดยทั่วไป