xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ย้ำงบกลางเยียวยา “ม็อบกำนัน” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  (แฟ้มภาพ)
“วิษณุ” ย้ำงบกลางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2556 - 2557 ได้ ยัน อยากให้รอ ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก่อน เพื่อจะได้ชัดเจนกว่านี้

วันนี้ (24 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 เห็นว่า คำถามที่สปน. ส่งมาเป็นคำถามที่ไม่ใช่ข้อกฎหมาย โดยเป็นปัญหาเรื่องวิธีปฏิบัติ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น โดยที่ สปน. ถามมาคือ อยากรู้ว่าเอาเงินมาจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นผิดหรือไม่ ได้ตอบไปว่า ไม่ผิด การจ่ายจากงบกลางจะจ่ายเพื่ออะไรก็ได้หากมีเหตุจำเป็น ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับกระทบจากการชุมนุม 5 ครั้งที่ผ่านมาออกมาจากงบกลางทั้งนั้น

ส่วนเป็นการลำเอียงเลือกปฏิบัติหรือไม่ที่จ่ายแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ได้ตอบไปว่า ไม่ทราบว่าการจ่าย 5 ครั้งที่ผ่านมา แต่ละครั้งเป็นอย่างไร ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่ข้อกฎหมาย เป็นเรื่องที่ สปน. ต้องไปดูเองตามหลักเกณฑ์ แต่ระวังแล้วกันหากลำเอียงเลือกปฏิบัติอาจจะผิดกฎหมายได้ เพราะขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังไต่สวนอยู่ ความจริงเราอยากให้รอผลการไต่สวนของป.ป.ช.ก่อนเพื่อจะได้ชัดเจนกว่านี้ เพราะทราบว่า ป.ป.ช. จะวินิจฉัยเร็วๆ นี้ ควรรอฟัง ป.ป.ช. หากไม่ผิดก็ทำไป แต่หากผิดช่วยดูหน่อยว่าผิดเพราะอะไร จะได้ไม่ไปทำผิดซ้ำเหมือนเขา

“การตอบครั้งนี้ สปน. ไม่ได้อะไรเท่าไหร่ เพราะคำถามที่ส่งมาคลุมเครือ ดังนั้น ช่วยถามมาใหม่ให้ชัดๆ อยากรู้อะไรกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าไม่มีกฎหมายรองรับคงไม่ใช่ เพราะมันมี เคยมีการใช้งบกลาง ไม่ได้ไปเอางบที่ไหนมา ซึ่งงบกลางจะเอาไปใช้อะไรก็ได้อยู่แล้วตามมติ ครม. ซึ่งนี่คือสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบไป ที่คำตอบกว้าง เพราะสปน. ถามมากว้าง อ่านไม่รู้เรื่องว่าเขาเขียนว่าอะไร วันประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกายังเชิญ สปน. มาเลยว่าถามว่าอะไร เขายังตอบไม่ถูกว่าจะถามอะไร” นายวิษณุ กล่าว

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เรื่องเสร็จที่ 480/2558 ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ที่มี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่น อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายวิลาศ สิงหวิสัย, พล.อ.ประพาฬ กุลพิจิตร, นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์, คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์, นายสีมา สีมานันท์, นายอัชพร จารุจินดา และ นางโฉมศรี อายะศิริ

เรื่อง การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2556 - 2557) ตามที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่ นร 0105.03/1487 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมเอกสารข่อเท้จจริง

รายงานข่าวระบุว่า มีการยกมติ ครม. วันที่ 28 ต.ค. 2551 ในรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสด์ มติ ครม. วันที่ 10 ม.ค. 2555 มติ ครม. วันที่ 6 มี.ค. 2555 มติ ครม. 3 ธ.ค. 2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการนำกรณีที่นายสาธิต ปิตุเดชะ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.ระยอง ที่ไปยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบมติ ครม. ทั้ง 2 ว่า เป็นการตอบแทนผลประโยชน์ต่อพวกพ้อง (เรื่องร้องเรียนเลขดำที่ 560031503) ที่ ป.ป.ช. กำลังสอบสวนอยู่ รวมทั้ง กรณี พระสุเทพ ปภาโร (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.) และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องมายัง คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้วินิจฉัย

หนังสือดังกล่าว ส่งมาถึง สปน. ตอบคำถาม ที่มาของความเคลื่อนไหวในการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ระหว่างปี 2556 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะสั่งการให้ สปน. เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

ที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตเคยมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ประกอบด้วย

1. เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546)

2. เหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 วันที่ 17 มีนาคม และ 29 กันยายน 2552)

3.เหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8 - 14 เมษายน 2552 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552)

4. เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มกราคม และ 6 มีนาคม 2555)

5. เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2556 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556)

คำตอบของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ระหว่างปี 2556 - 2557 โดยใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น อยู่ในอำนาจที่ ครม. จะสามารถกระทำได้ แต่การจ่ายเงินดังกล่าวจะต้องช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายจะให้ประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาจะมีอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการอย่างไร เป็นเรื่องที่ ครม. จะพิจารณากำหนดตามความเหมาะสม

ให้คำนึงถึงความเป็นธรรม ตลอดจนความพร้อมด้านงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งอาจนำผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และเสนอแนวทางการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2556 - 2557 ที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางดังกล่าวต่อไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น