xs
xsm
sm
md
lg

สะพัด! หนังสือกฤษฎีกา คณะ “วิษณุ เครืองาม” รับรอง สปน. รัฐเยียวยา “ม็อบกำนัน” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม
สะพัด! หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะสอง มี “วิษณุ เครืองาม” นั่งประธานฯ ตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ครม. อ้างรัฐบาลในอดีตเคยมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง สรุป “ม็อบกำนัน” รัฐบาลสามารถใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นมาจ่ายได้ แต่อยู่ในอำนาจที่ ครม.

วันนี้ (23 มี.ค.) มีรายงานว่า มีการเผยแพร่เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เรื่องเสร็จที่ 480/2558 ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่น เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายวิลาศ สิงหวิสัย, พล.อ.ประพาฬ กุลพิจิตร, นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์, คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์, นายสีมา สีมานันท์, นายอัชพร จารุจินดา และนางโฉมศรี อายะศิริ เรื่อง การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2556-2557) ตามที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่ นร 0105.03/1487 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมเอกสารข่อเท้จจริง

รายงานข่าวระบุว่า มีการยกมติ ครม.วันที่ 28 ต.ค. 2551 ในรับบาลนายสมชาย วงศ์สวัสด์ มติ ครม.วันที่ 10 ม.ค. 2555 มติ ครม.วันที่ 6 มี.ค. 2555 มติ ครม. 3 ธ.ค. 2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการนำกรณีที่นายสาธิต ปิตุเดชะ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.ระยอง ที่ไปยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบมติ ครม.ทั้ง 2 ว่า เป็นการตอบแทนผลประโยชน์ต่อพวกพ้อง (เรื่องร้องเรียนเลขดำที่ 560031503) ที่ป.ป.ช.กำลังสอบสวนอยู่ รวมทั้งกรณีพระสุเทพ ปภาโร (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.) และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วินิจฉัย

หนังสือดังกล่าวส่งมาถึง สปน.ตอบคำถามที่มาของความเคลื่อนไหวในการจ่ายเงินชดเชียเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ระหว่างปี 2556 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้ สปน.เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

ที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตเคยมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ประกอบด้วย

1. เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546)

2. เหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 วันที่ 17 มีนาคม และ 29 กันยายน 2552)

3. เหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เมษายน 2552 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552)

4. เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มกราคมและ 6 มีนาคม 2555)

5. เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556)

คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.ระหว่างปี 2556-2557 โดยใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น อยู่ในอำนาจที่ ครม.จะสามารถกระทำได้ แต่การจ่ายเงินดังกล่าวจะต้องช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายจะให้ประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาจะมีอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการอย่างไร เป็นเรื่องที่ ครม.จะพิจารณากำหนดตามความเหมาะสม

ให้คำนึงถึงความเป็นธรรม ตลอดจนความพร้อมด้านงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งอาจนำผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และเสนอแนวทางการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2556-2557 ที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว มาประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางดังกล่าวต่อไปได้


หนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2556-2557)


กำลังโหลดความคิดเห็น