ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดวันที่ 19 มีนาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็รับฟ้องคดีอาญาที่อัยการสูงสุดฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เกิดความสียหายไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีนัดแรกวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 9.30 น.
ถ้าจะเรียกว่าไม่เหนือความคาดหมายก็น่าจะพูดแบบนั้นได้ เพียงแต่ว่าหากพูดไปก่อนก็เกรงใจศาล เนื่องจากศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา แต่เมื่อพิจารณาจากการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติออกมาแบบเป็น “เอกฉันท์” และมีการตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาสำนวนกับฝ่ายอัยการสูงสุด มาเป็นเวลานาน มันก็พอเป็นสัญญาณได้ชัดเจนว่าผลในวันนี้ (19 มีนาคม) จะออกมาอย่างไร
ตามกระบวนการต่อไป ศาลจะนัดจำเลยมารับฟังการพิจารณานัดแรกโดยให้เจ้าพนักงานไปแจ้งหรือปิดหมายให้ทราบภายใน 7 วัน โดยศาลนัดมาฟังการพิจารณาวันที่ 19 พฤษภาคม ดังกล่าว
นับจากนี้ไปถือว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบแล้ว จะเคลื่อนไหวหรือเดินทางไปไหนมาไหน หากต้องเดินทางออกนอกประเทศก็ต้องขออนุญาตจากศาลเสียก่อน
และที่สำคัญ วันพิจารณาคดีนัดแรก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาล หากไม่ไปก็จะโดนออกหมายจับ !!
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ ความเคลื่อนไหวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งหลังจากที่รับทราบว่าศาลฎีกาฯรับฟ้องอาญาแล้ว และหลังจากนี้จะเคลื่อนไหวกันอย่างไร แน่นอนว่าอย่างแรกก่อน ก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายอีกนั่นคือ เธอได้ใช้โชเชียลปฏิเสธข้อหา ปฏิเสธความผิด โดยใช้มุกเดิมๆ สรุปสามสี่เรื่อง ก็คือ เธอมาจากการเลือกตั้งได้รับมอบหมายจากประชาชนมอบหมายเป็นฉันทามติให้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ความหมายก็คือ โครงการรับจำนำข้าวเป็นความต้องการของประชาชน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีความผิด
สอง โครงการดังกล่าวเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น เป็นการสร้างกลไกตลาดใหม่ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ สาม ย้ำว่า เธอมาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินนโยบายตามความต้องการของประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ และสุดท้ายเธอถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้รับความยุติธรรม จากนั้นก็ขอโอกาสจากศาล เพื่อขอให้พิจารณาหลักฐานพยานอย่างเปิดกว้าง
แน่นอนว่านี่คือความคิดและความเห็นจากฝ่ายจำเลย ซึ่งก็เป็นแบบนี้ทั่วประเทศ ที่ลองไปถามความเป็นนักโทษหรือผู้กระทำความผิดทั้งในและนอกคุกกว่าร้อยละ 90 ก็จะพูดเสียงเดียวกันว่า “เขาหาว่า” ทั้งสิ้น ก็ว่ากันไป ขณะเดียวกัน จะว่าไปแล้วเมื่อกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาลก็จะได้เป็นการพิสูจน์กันอย่างเต็มที่ว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ทุกสามารถนำมาชี้แจงหั้างกันได้ ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจชี้ขาด ขออย่างเดียว อย่าหนี และตีรวนกันไปเสียก่อน
อย่างไรก็ดี กรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะถือว่ามีชะตากรรมที่หนักกว่าพี่ชาย คือ ทักษิณ ชินวัตร เพราะเธอถูกฟ้องคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูง ส่วนจะสูงเท่าไรก็ต้องรอฟังการพิพากษาออกมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก ขณะเดียวกัน ในเวลานี้ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้หนีคดีออกไปต่างประเทศเหมือนกับพี่ชาย และต่อไปการจะเดินทางออกนอกประเทศต้องขึ้นอยู่กับการอนุญาตจากศาลเสียก่อน
นอกจากนี้ หากพิจารณาในทางการเมือง ที่เชื่อมโยงมาถึงรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สามารถอธิบายได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของศาล ถ้าจะเรียกว่าได้โอกาส “ลอยตัว” ก็อาจมองแบบนั้นได้เหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสำนวนคดีที่เดินมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาสำนวนกับทีมของอัยการสูงสุด มาจนถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องในวันที่ 19 มีนาคม ก็ถือว่านาทีนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังนับถอยหลังเข้าคุกเข้าไปทุกทีแล้ว !!