โฆษก คสช.โต้ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิฯ ปัดซ้อมผู้ต้องหาแก๊งบึ้มรีดข้อมูล ตั้งข้อสังเกตระยะหลังจะโวยตามสูตรแบบนี้ทุกครั้ง ย้อนสังคมข้องใจลำเอียง แจงคุมตัวมีบันทึกตลอดเพื่อความโปร่งใส แม้ทำแบบลับๆ ชี้มีอัยการศึกเพื่อกันเหตุป่วน นำคนผิดลงโทษหน้าที่ ตร. กสม.เผยศูนย์ความเพื่อสิทธิฯ ติดต่อร้องเรียนเหตุดังกล่าว พร้อมตรวสอบ
วันนี้ (18 มี.ค.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหาคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก จำนวน 4 รายว่ามีการซ้อมทรมานเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องหานั้นว่า น่าจะเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ อีกทั้งจากการตั้งข้อสังเกตพบว่าระยะหลังจะมีร้องเรียนในลักษณะนี้ทุกครั้งเหมือนกับร้องเรียนไว้ก่อน หรือมีความกังวลจึงทำตามสิทธิไว้ก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะบางครั้งการให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จออกไปเกรงว่าจะไปมีผลกับผู้ต้องหาในอนาคต เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีถ้ากรณีที่ศาลอาจจะพิจารณาลดหย่อนอัตราโทษให้ก็มั่นใจว่าไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จะต้องไปบังคับขู่เข็ญ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช่มาตรการบังคับแน่นอน การดำเนินการทุกอย่างจะอยู่ในวิธีแนวทางที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และที่สำคัญการให้ข้อมูลในชั้นนี้จะเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง ยังไม่ใช่ข้อผูกมัดหลักในการฟ้องเอาผิดทางคดี เพราะขั้นตอนฟ้องเอาผิดจะอยู่ในขั้นตอนต่อไปกับทางตำรวจ
พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับความกังวลต่อการควบคุมตัวบุคคลโดยปราศจากสิทธิในการแจ้งญาติ การเข้าถึงทนายความ รวมถึงการมักไม่เปิดเผยสถานที่ในการควบคุมตัว ทำให้ขาดความโปร่งใส จึงมีความสุ่มเสี่ยงในการใช้อำนาจโดยอำเภอใจการซ้อมทรมานนั้น ตนมั่นใจว่าการเข้าแสดงตัวหรือการให้เหตุผลในการเชิญตัวนั้นเป็นไปโดยเปิดเผยและบริสุทธิ์ใจ แต่ในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจทำได้เท่าที่จำเป็น เพื่อผลสำเร็จสูงสุดของภารกิจ และการรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิบัติในขั้นตอนนี้จะเน้นการขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นหลัก เพื่อการขยายผลการสืบสวนไปสู่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในทุกขั้นตอนการปฏิบัติมีบันทึกยืนยันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันความโปร่งใส เป็นธรรมอย่างเหมาะสม ที่สำคัญเจ้าหน้าที่จะไม่ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกเชิญตัวมาในลักษณะของผู้ที่ทำความผิดอย่างแน่นอนในขั้นตอนนี้ และยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในชั้นนี้จึงอาจจะยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่ต้องใช้ทนายความ ส่วนกรณีการขอให้ยุติการใช้อำนาจกฎอัยการศึกเพื่อนำบุคคลที่กระทำความผิดมาลงโทษนั้น กฎอัยการศึกโดยหลักจะใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันการใช้รุนแรงเป็นหลัก การซักถามข้อมูลในช่วงนี้จุดประสงค์หลักก็เพื่อการดังกล่าวยังไม่เน้นเรื่องการนำคนผิดมาลงโทษ ส่วนขั้นตอนการนำคนทำผิดมาลงโทษนั้นยังเป็นของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนเดิม ตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“อยากให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้พิจารณาองค์ประกอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างเป็นธรรมด้วย สังคมได้ตั้งข้อสังเกตเชิงสับสนในระยะหลังว่าทำไมบางองค์กรเหมือนให้ความสำคัญเชิงลำเอียงด้วยการตั้งสมมติฐานก็ดี เอียงไปทางฝ่ายคนที่ทำผิดกฎหมายมากกว่า ทั้งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐพยายามทำทุกอย่างภายใต้กรอบกฎหมายและกติกาสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อความผาสุกของคนในประเทศ โดยเฉพาะในฐานะผู้ที่ประกอบอาชีพด้านกฎหมายน่าจะสนับสนุนหรือให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่พยายามใช้หลักกฎหมายในการทำงานมากกว่าการแสดงความไม่ไว้วางใจหรือชี้นำให้เกิดความสับสน” พ.อ.วินธัยกล่าว
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดต่อมายัง กสม.เพื่อจะยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหาเกิดเหตุการณ์ระเบิดหน้าศาลอาญา 4 ราย ได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข ที่ถูกจับกุมตัวตามกฎอัยการศึก ระหว่างวันที่ 9-15 มี.ค.ที่ผ่านมาว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาทั้ง 4 รายโดยการชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องหาดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ต้องหาบางรายยังโดนช็อตด้วยไฟฟ้าและยังคงปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนังระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ทั้งนี้ หลังจากมีการยื่นร้องเรียนแล้วทาง กสม.จึงจะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ส่วนจะต้องเชิญใครมาให้ข้อมูลบ้างนั้นต้องรอดูการยื่นร้องเรียนก่อน