xs
xsm
sm
md
lg

สุดเอือม! ตำรวจชุดคดีเกาะเต่า หนี กสม.ไม่มาแจงซ้อมผู้ต้องหารอบที่ 5 เตรียมชงแจ้งความเอาผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
งามหน้าตำรวจไทยอีกรอบ “หมอนิรันดร์” รอเหงือกแห้ง ตำรวจชุดสืบสวนคดีเกาะเต่าไม่มาให้ข้อมูล กรณีซ้อมทรมาน 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า ขีดเส้นใต้ 24 พ.ย. หากไม่มาแจ้งความแน่ ยันอีกรอบไม่เกี่ยวกับสำนวนคดีฆาตกรรม แต่ให้สังคมตรวจสอบตำรวจได้ ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรเกินเลย อีกทั้งไทยลงนามในอนุสัญญาห้ามซ้อมทรมาน

วันนี้ (17 พ.ย.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง กล่าวภายหลังการประชุมอนุฯ ถึงกรณีการตรวจสอบการซ้อมทรมาน 2 ผู้ต้องหาคดีฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นครั้งที่ 5 ว่า ทางเลขานุการคณะอนุฯ แจ้งว่า ตำรวจชุดสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่เดินทางมาให้ข้อมูล ทางอนุกรรมการได้ให้เวลาถึงวันที่ 24 พ.ย. โดยที่ผ่านมาพยายามชี้แจงทำความเข้าใจไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การตรวจสอบไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีว่าใครเป็นฆาตกร 2 ผู้ต้องหาเป็นฆาตกรตัวจริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ในการจับกุมนั้นมีการซ้อมทรมานจริงหรือไม่ เพื่อให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเข้าใจการทำงานของอนุกรรมการ ล่าสุด ได้มีการส่งแนวคำถามไปให้ดูและได้แจ้งให้ทราบว่าหากมาให้ข้อมูลแล้ว เห็นว่าเรื่องที่อนุฯ สอบถามเกี่ยวข้องกับเนื้อสำนวนคดี ก็สามารถที่จะปฎิเสธการตอบได้ อย่างไรก็ตามหากวันที่ 24 พ.ย. ทางชุดสืบสวนยังไม่มาให้ข้อมูล ตนจะเสนอต่อที่ประชุม กสม.ในวันที่ 26 พ.ย. ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ. กสม. แจ้งความดำเนินคดีกับชุดสอบสวนเพราะถือว่าทำให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. และหลังจากนั้นทางอนุกรรมการ ก็จะดำเนินการสรุปสำนวนคำร้องตามข้อมูลที่มี โดยจะมีหมายเหตุว่าไม่ได้รับชี้แจงข้อเท็จจริงจากฝ่ายตำรวจ

นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมา การตรวจสอบยึดหลักกฎหมายและให้เกียรติตัวบุคคลและองค์กร และเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสำนวนว่าผู้ต้องหาที่จับนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งแม้เรื่องจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่เมื่อการตรวจสอบของ กสม. เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติละเมิดว่ามีการซ้อมทรมานจริงหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่ต่อสู้กันในชั้นศาล กสม. ก็สามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า หากประเด็นที่ กสม. ตรวจสอบเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลยุติธรรมกำลังพิจารณาและจะมีคำวินิจฉัย ถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน กสม. ดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้ ไม่ต้องหยุดตรวจสอบเพราะไม่เข้าข่ายมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. กสม. จึงเห็นว่าหากตำรวจมาให้ข้อมูลจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของตำรวจเอง เพราะถ้ายืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานก็จบ แต่ถ้ามีการซ้อมทรมานจริงและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอยู่ก็จะเป็นเรื่องดี ทำให้สังคมรู้สึกว่าระบบของตำรวจก็สามารถตรวจสอบได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อองค์กรตำรวจแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าฝ่ายผู้ต้องหาสามารถนำรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ในเรื่องการซ้อมทรมานไปเป็นหลักฐานในการสู้คดีได้หรือไม่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ถ้าหากผู้ถูกละเมิดสิทธิเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถนำไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆได้ แต่การจะพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นฆาตกรจริงหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การซ้อมทรมาน ยังมีพยานหลักฐานทางนิติวิทยาอื่นๆ ที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ ซึ่งที่ผ่านมาข้อสรุปของ กสม. หลายครั้งได้นำไปใช้เป็นพยานในชั้นศาล แต่กรณีนี้ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำงานร่วมกับทนายผู้ต้องหาจึงไม่ทราบว่าทนายจะนำผลสรุปดังกล่าวไปต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่

“ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพยายามทำความเข้าใจกับตำรวจถึงการตรวจสอบในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จึงไม่มาชี้แจง เราไม่ได้ต้องการที่จะทราบว่าใครเป็นคนฆ่า แต่ต้องการรู้ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการซ้อมทรมานเกินกว่าเหตุจริงไม่ เพราะเมื่อศาลยังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุดก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตำรวจไม่มีสิทธิที่จะทำเกินเลยกับผู้บริสุทธิ์ได้ อีกทั้งที่ผ่านมาการตรวจสอบของ กสม. ก็ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เป็นอย่างดี ขนาดตรวจสอบนโยบายเรื่องการทวงคืนพื้นที่ป่า คสช. ยังมาชี้แจงเลย แล้วเรื่องนี้นานาประเทศให้ความสนใจ แต่ตำรวจกลับไม่สนใจ ทั้งที่ประเทศไทยก็ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามซ้อมทรมาน” นพ.นิรันดร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น