xs
xsm
sm
md
lg

“ตำรวจ-ราชทัณฑ์” ย้ำไม่เกี่ยวซ้อมทรมานมือบึ้มศาลอาญา - “หมอนิรันดร์” เยี่ยมถึงคุกอีกครั้ง 3 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
ตำรวจ - ราชทัณฑ์ แจง กสม. ปัดเกี่ยวซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปาบึ้มศาลอาญา ผู้ต้องหาไม่เคยแสดงหลักฐานให้ดู อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้มีท่าทีหวาดระแวงหรือวิตก “หมอนิรันดร์” ย้ำการตรวจสอบไม่เกี่ยวเรื่องคดี เตรียมเยี่ยมผู้ต้องหาอีกครั้ง 3 เม.ย. นี้ ระบุอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องให้ความร่วมมือ

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจงกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีวางระเบิดหน้าศาลอาญา รัชดา จำนวน 9 ราย โดยมี พล.ต.ต.จิตติ รอดบางยาง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม พงส.ผทค. กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. กองบังคับการปราบปราม, พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รอง ผบก.น.6, นายนฤพนธ์ แก้วเทศ ผอ.ส่วนสวัสดิการผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในฐานะตัวแทนกรมราชทัณฑ์ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, นางลัดดา ชูแข หัวหน้าฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ รวมทั้ง นายปกป้อง เลาวัณศิริ สำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) มาเข้าร่วมให้คำชี้แจง

โดย นพ.นิรันดร์ และคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ได้ตั้งคำถามหลายประเด็นกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีดังกล่าว อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐมีการกระทำที่ซ้อมทรมานผู้ต้องหาตามที่ได้รับร้องเรียนมาจริงหรือไม่ หรือรับรู้ว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาตามที่ปรากฏออกในสื่อ หรือไม่ ขั้นตอนในการควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องหาเป็นอย่างไร ผลการตรวจสุขภาพผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมราชทัณฑ์ได้พบบาดแผลหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ได้เน้นย้ำว่าไม่ได้เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ต้องการรับฟังข้อเท็จจริง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีแต่อย่างใด

ด้าน พ.ต.อ.ชยุต กล่าวชี้แจงว่า การจับกุมตัวผู้ต้องหากระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ก่อนส่งมอบให้ทางตำรวจดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยก่อนที่จะมีการสอบสวนนั้น ทางโรงพยาบาลตำรวจได้เข้ามาตรวจร่างกายผู้ต้องหา ตนยังไม่เห็นรายละเอียดผลของการตรวจร่างกาย แต่เท่าที่ทราบไม่พบว่ามีผู้ต้องหาคนใดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้รับบาดเจ็บในการถูกซ้อมทรมาน เมื่อตรวจร่างกายเสร็จสิ้นจึงเข้าสู่กระบวนการสอบสวน โดยได้มีการสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นห้องกระจกใสที่บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นได้ อีกทั้งในวันดังกล่าวมีสื่อมวลชนจำนวนมากติดตามผลการสอบสวน จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจให้ศาลทหารพิจารณาเพื่อฝากขังตามกฎอัยการศึก ดังนั้นจึงยืนยันว่า ในกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการประทุษร้าย ข่มขู่ หรือซ้อมทรมานผู้ต้องหาแต่อย่างใด เพราะทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างเปิดเผย

พล.ต.ต.จิตติ กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจจะไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา อีกทั้งผู้ต้องหาก็ไม่เคยแสดงหลักฐานให้ดู อย่างไรก็ตาม เราไม่มีคำตอบในกรณีที่ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ทหารจะส่งมอบผู้ต้องหามาให้ทางตำรวจนั้นเป็นนอย่างไรบ้าง เพราะขั้นตอนของตำรวจเริ่มขึ้นหลังได้การส่งมอบตัว อีกทั้ง ผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ไม่ได้มีท่าทีหวาดระแวงหรือแสดงอาการวิตก

ขณะที่ นายนฤพนธ์ กล่าวว่า ทางเรือนจำได้ตรวจสุขภาพผู้ต้องหาก่อนที่จะกักขังตัว มีการสอบถามสุขภาพและโรคประจำตัว ซึ่งจะเป็นการตรวจโดยพยาบาลแต่ยังไม่แน่ใจว่าขณะนี้ได้มีแพทย์มาตรวจร่างกายแล้วหรือไม่ เพราะที่เรือนจำไม่มีแพทย์ประจำ​ ส่วนกรณีนี้ เอกสารรายละเอียดประวัติและผลการตรวจร่างกายผู้ต้องหาได้อยู่ที่สถานพยาบาลของเรือนจำ ซึ่งตนไม่ได้นำมาและยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำร้องหรือการกล่าวถึงการซ้อมทรมานจากผู้ต้องหา

จากนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ขอให้ตัวแทนจากรมราชทัณฑ์ไปรายงานต่ออธิบดีว่าในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. นี้ ตนจะขอเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องหาอีกครั้ง และขอให้อธิบดีให้คำตอบโดยเร็วว่าจะอนุมัติให้ตนเข้าเยี่ยมได้หรือไม่ เพราะอธิบดีท่านต้องเข้าใจว่า กสม. ได้ทำตามหน้าที่ หากไม่ให้ตนเข้าเยี่ยม กรมราชทัณฑ์จะตอบสังคมไม่ได้ว่าเหตุใดจึงไม่ให้เข้า ถึงแม้ตอนนี้จะมีกฎอัยการศึกแต่ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิซ้อมทรมานผู้ต้องหา เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และอาจมีผลต่อเรื่องภาพลักษณ์ประเทศ เรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งการทำงานของกสม.อาจเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่รัฐให้ดูมีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส

“เรื่องนี้ยูเอ็นให้ความสนใจ รู้ว่ายูเอ็นไม่ใช่พ่อ แต่ก็ถือว่าเป็นองค์กรระดับสากลที่ประเทศไทยยอมรับพันธสัญญา อะไรที่เป็นเรื่องของคดีเราก็ไม่ยุ่ง แค่ต้องการไปดูว่าผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานจริงหรือไม่ และที่ผ่านมา ผมก็ถูกกล่าวหาหลายอย่าง พอจะไปเยี่ยมผู้ต้องหาคดีนี้ก็หาว่าหมอนิรันดร์เป็นเสื้อแดง พอไปช่วย กปปส. ก็หาว่าเป็นเสื้อเหลือง จึงอยากบอกว่าผมไม่ใช่ทั้งเหลืองและแดง แต่เป็นสี กสม. ทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชนและความถูกต้อง ซึ่งรัฐก็ต้องให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นชื่อเสียงประเทศเสียหาย” นพ.นิรันดร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น