xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จี้ทบทวน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชี้ละเมิดสิทธิขัดหลักสากล แนะใช้โทษปกครองแทนอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม.ออกแถลงการณ์ แนะเปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็น พ.ร.บ.คุ้มครองเสรีภาพชุมนุม พร้อมจี้ทบทวนร่าง กม.เหตุละเมิดเสรีภาพขัดหลักสากล บี้ จนท.คุมม็อบห้ามพกปืน ชี้บทลงโทษควรใช้โทษทางปกครองไม่ใช่อาญา แนะมีกลไกรองรับชุมนุมเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ปชช. ไม่ควรแปลความจนทำให้ชุมนุมไม่อาจทำได้

วันนี้ (9 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกเอกสารเผยแพร่ต่อกรณีร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ระบุว่า ในการประชุม กสม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 เห็นว่า 1. ชื่อร่าง พ.ร.บ.ควรเปลี่ยนเป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของกฎหมาย 2. คำนิยามต้องมีความชัดเจนและผู้จัดการชุมนุมไม่ควรครอบคลุมถึงผู้เชิญชวนหรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม 3. การกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานไม่สอดคล้องกับหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี 4. การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมและสถานที่ซึ่งการชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน โดยรัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดเพิ่มเติมในภายหลังได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกินสมควรและให้ดุลพินิจแก่รัฐมนตรีมากเกินไป ผลของบทบัญญัติทำให้ไม่มีพื้นที่ในการชุมนุม 5. การกำหนดเวลาห้ามชุมนุมหรือเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมไม่เหมาะสม 6. การกำหนดให้ผู้ชุมนุมจะต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง กรณีที่แจ้งไม่ทันต้องมีหนังสือขอผ่อนผัน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งให้แก้ไขหรือห้ามการชุมนุม ไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ

7. กรณีที่ผู้ชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมหรือไม่ได้รับการผ่อนผันหรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่แจ้งโดยไม่แจ้งขอขยายระยะเวลาเจ้าพนักงานออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้นั้นไม่เหมาะสม เพราะคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุมต้องเป็นกรณีที่การชุมนุมนั้นกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัย การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างร้ายแรงเท่านั้น มิใช่เพราะเหตุไม่ได้แจ้งการชุมนุม 8. การกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับ ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินได้ ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญฯ การใช้กำลังหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนควรกำหนดกรอบและขั้นตอน โดยคำนึงถึงหลักการได้สัดส่วนและพอควรแก่เหตุ ไม่ให้ใช้อาวุธปืนโดยเด็ดขาด และต้องฝึกอบรมเรื่องนี้โดยเฉพาะ 9. กรณียกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัยไม่สมควรบัญญัติไว้ 10. กรณีเขตอำนาจศาลไม่ควรบัญญัติให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลใดศาลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ควรบัญญัติให้ข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลตามลักษณะแห่งคดีนั้นๆ 11. กรณีบทกำหนดโทษควรใช้โทษทางปกครอง ไม่ใช่โทษอาญา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเขียนบทกำหนดโทษไว้ และ 12. บทบัญญัติบางมาตราไม่อาจปฏิบัติได้ เช่น ผู้จัดการชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาในการชุมนุม

นอกจากนี้ยังเห็นว่า รัฐควรมีกลไกรองรับการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อนที่การชุมนุมจะขยายตัว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดสถานที่ในการชุมนุมสาธารณะ ไม่ควรบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงควบคู่กับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ทั้งนี้ การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.นี้ รัฐไม่ควรแปลความจนทำให้การชุมนุมสาธารณะไม่อาจทำได้จริง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญฯ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2549 และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีที่ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม กสม.ได้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังสนช.และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ..... แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น