xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ทำใจไทยถูกลดระดับองค์กรสิทธิมนุษยชนเหลือเกรดบี ชี้กฎหมายลูกยังไม่ผ่านสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยอมรับผล หลังถูกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลดไทยเหลือเกรดบี ชี้ปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 50 และกฎหมายลูกยังไม่ผ่านสภาฯ ไม่ปฏิเสธหากถูกยุบ แต่งานปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องไม่หายไป

วันนี้ (1 ม.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) มีมติแนะนำพิจารณารับรองคุณภาพสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยให้ลดระดับจากเกรดเอลงมาที่เกรดบี ว่า เรื่องดังกล่าวทาง กสม. ได้รับหนังสือจากไอซีซีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยสาเหตุที่ถูกลดระดับลงมานั้นเกิดจากปัญหาระบบโครงสร้างของ กสม. คือขั้นตอนกระบวนการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง กสม. เนื่องจาก กสม. ชุดปัจจุบันซึ่งเป็นชุดที่สองจะได้รับการสรรหาที่คณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่จะเป็นตุลาการตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะแตกต่างจาก กสม. ชุดแรก ที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยคณะกรรมการสรรหาจะประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคม ดังนั้นการสรรหา กสม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ค่อนข้างไปขัดกับหลักการปารีสที่ระบุว่าการสรรหา กสม. ต้องมีความยึดโยงกับภาคประชาสังคม อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังได้ลดจำนวน กสม. ลงจาก 11 คน เหลือ 7 คน จึงทำให้การดำเนินการหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอาจไม่ครอบคลุมและทันต่อเหตุการณ์

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า รวมทั้งกรณีที่กฎหมายในส่วนของ กสม. ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาฯ กสม. เลยถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชการ ทั้งที่ กสม. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กระอิสระ เมื่อยังไม่มีกฎหมายลูกของ กสม. นั้น จึงทำให้การทำงานยังไม่คล่องตัวหรือมีความยืดหยุ่น แตกต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งเราได้พยายามเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 7 ปี กฎหมายก็ยังไม่ผ่านรัฐสภา ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างล่าช้า และยิ่งในช่วงภายใต้การรัฐประหาร ก็น่ากังวลว่าร่างกฎหมาย กสม. จะผ่านสภาหรือไม่ เพราะต้องรอดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะออกมาแบบไหน และจะกำหนดประเด็นที่เกี่ยวกับ กสม. อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เรายังถูกประเมินถึงการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551, 2553 จนมาถึงปี 2556 ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากระบบการทำงานภายในสำนักงาน กสม. เอง อย่างรายงาน กสม. ที่เกี่ยวกับการชุมนุมปี 2553 ที่ออกมาล่าช้า เราก็ยอมรับว่าต้องมีการปรับปรุงการทำงาน หากแต่เราไม่ได้ทำงานเฉพาะเขียนรายงาน เรามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

“เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่คงไม่กระทบต่อการทำงานของ กสม. มากนัก และคงไม่รู้สึกวิตกกังวลหรือท้อแท้ แต่เราต้องนำประเด็นที่ถูกประเมินนี้มาปรับปรุงแก้ไขทำให้องค์กรเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากเรื่องสิทธิเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่การปรับปรุงนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนา” นพ.นิรันดร์กล่าว

ด้าน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการ กสม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม. ยังไม่มีกฎหมายพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง ระบบการคัดสรรก็ถูกมองว่ามีปัญหา ไอซีซีเลยมองว่า กสม. ไม่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อไอซีซีมีมติแนะนำให้ลดเกรด กสม. ลงเช่นนี้ ก็ถือว่าไม่ดีต่อภาพลักษณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อย่างประเด็นที่ถูกประเมินเกี่ยวกับการทำรายงานในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 นั้น เราต้องยอมรับว่าการทำงานมีความล่าช้า ข้อมูลก็เป็นลักษณะเชิงบอกเล่า กสม. จึงถูกมองว่ามีความลังเล แต่การชุมนุมภายหลัง อย่างตอน กปปส. เราถือว่ามีประสบการณ์มากขึ้นและการทำงานก็รวดเร็วขึ้น เพียงแต่มีการยึดอำนาจก่อนจึงต้องเลื่อนการแถลงสรุปรายงาน แต่เมื่อไอซีซีซึ่งเป็นองค์กรสิทธิระดับสากลประเมินมาเช่นนี้เราก็ต้องยอมรับและก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข หากประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสม. เราไม่ปฏิเสธการถูกยุบองค์กร และไม่ต้องการปกป้องตัวเอง เพียงแต่ขอให้งานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการขององค์กรใดไม่ควรจะหายไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นานาชาติกำลังจับตาดูอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น