xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสิทธิฯ ห่วงยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกระทบคุ้มครองสิทธิ์ - ขัดหลักการปารีส - หวั่นรัฐล้วงลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
กสม. ร่อนจดหมายถึงแม่น้ำ 5 สายค้านควบรวมองค์กร ชี้ภารกิจแตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิประชาชน ตัดช่องทางร้องเรียน ซ้ำขัดหลักการปารีส สวนกระแสประชาคมโลก ทำภาพลักษณ์รัฐ ถูกมองแทรกแซงการทำงาน กสม. เหตุถูกตรวจสอบ

วันนี้ (4 ก.พ.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้มีการควบรวม กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน และยกสถานะขึ้นเป็น คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน โดยนางอมรา กล่าวว่า ในวันนี้ กสม. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีดังกล่าว โดยเห็นว่า แนวคิดการควบรวม 2 องค์กร มีข้อควรคำนึงและข้อพิจารณาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง

ประกอบด้วย 1. ผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของ กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดินมีความแตกต่างกัน โดย กสม. ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นสำคัญ ที่ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ กฎหมายไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 การควบรวมองค์กรดังกล่าวจะมีผลเป็นการสร้างองค์กรกลุ่มขึ้นใหม่ ที่รวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ให้ไปทำหน้าที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ส่วนที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่า ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้รายงานต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วยนั้น แท้จริง พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 และมาตรา 31 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว และที่กรรมาธิการอ้างว่าการควบรวมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการร้องเรียนได้ครบวงจรนั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่กว้างขวาง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ที่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปที่สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน กลายเป็นการลดความสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง และการควบรวมยังมีผลให้ต้องเปลี่ยนระเบียบ กฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการองค์กรของ กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน จึงอาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานบุคคล และงบประมาณ รวมทั้งการให้บริการด้านเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มีอยู่เดิมของแต่ละองค์กรต้องขาดความต่อเนื่องและเกิดภาวะชะงักงันในเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นางอมรา ยังกล่าวอีกว่า ตามหลักการปารีส สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องมี พ.ร.บ. เฉพาะเพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และประกันความเป็นอิสระรวมทั้งความยั่งยืนขององค์กร แต่การควบรวม ย่อมทำให้บทบาทขององค์กรใหม่ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ชัดเจน อาจถูกลดทอนความสำคัญได้ การให้มีกรรมการ 11 คน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละคนให้ชัดเจนส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กรใหม่ในด้านสิทธิมนุษยชนถูกแยกย่อยออกเป็นการพิทักษ์สิทธิในแต่ละด้านขาดการพิจารณาในองค์รวม ไม่สอดคล้องกับหลักการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากลและไม่อาจแบ่งแยกได้ อีกทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรากฎถึงการให้มีสำนักงานฯ ที่เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ที่จะทำให้การบริหารงานขององค์กรเป็นไปโดยอิสระ

“ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเหมือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สอดคล้องกับหลักการปารีส ดังนั้น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นการสื่อสาร ว่า บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยถูกลดทอนความสำคัญลงทั้งที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศตลอดมา ปัจจุบันภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมิได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทั้งที่ผู้แทนไทยมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานดังกล่าวมาโดยตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึง กสม. ก็จะยิ่งเป็นการส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสวนกระแสของประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนวคิดที่จะให้ควบรวมองค์กรดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรง อาจเป็นการทำให้สังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศเข้าใจได้ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล” นางอมรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือของ กสม. นั้น ยังได้เสนอให้กรรมาธิการยกร่างพิจารณาถึงมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการขององค์กร ที่ทาง กสม. เสนอไป ทั้งในด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย การเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรี การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประสานงานเครือข่าย และด้านการจัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพตามหลักการ 35 วรรคสอง ซึ่งจำเป็นกสม.จะต้องเป็นองคกรที่เป็นเอกเทศ

ด้าน นพ.นิรันดร์ มองว่าการควบรวมจะทำให้เกิดปัญหาการทำงานมากกว่าเสริมประสิทธิภาพ เพราะสององค์กรมีวัฒนะธรรมและภารกิจต่างกัน ยืนยันการทำงานไม่เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กรได้ร่วมหารือการทำงาน หากเรื่องร้องเรียนที่รับผิดชอบตรงกับภารกิจขององค์กรใด ก็จะโอนให้ไปรับผิดชอบ ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 ให้แยกสององค์กรเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการยื่นเรื่องร้องเรียน และอยากให้การทำงานแยกส่วนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น