xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ขอแม่น้ำ5สายทบทวน แผนรวมกก.สิทธิฯ-ผู้ตรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4ก.พ.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณธกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)พร้อมด้วย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงกรณี คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้มีการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน และยกสถานะขึ้นเป็น คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน
นางอมรา กล่าวว่า กสม.ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีดังกล่าวโดยเห็นว่า แนวคิดการควบรวม 2 องค์กร มีข้อควรคำนึง และข้อพิจารณาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง ประกอบด้วย
1 . ผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของกสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความแตกต่างกัน โดยกสม. ทำหน้าที่ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นสำคัญ ที่ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ กฎหมายไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศ ว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550
การควบรวมองค์กรดังกล่าว จะมีผลเป็นการสร้างองค์กรกลุ่มขึ้นใหม่ที่รวมอำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะให้ไปทำหน้าที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
ส่วนที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้รายงานต่อรัฐสภา และเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วยนั้น แท้จริง พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 และ มาตรา 31 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว และที่กรรมาธิการฯ อ้างว่า การควบรวมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการร้องเรียนได้ครบวงจรนั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงาน มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว
นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรอบรู้ และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่ กว้างขวาง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่จำเป็น จะต้องสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปที่สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน กลายเป็นการลดความสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง และการควบรวมยังมีผลให้ต้องเปลี่ยนระเบียบกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการองค์กรของกสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน จึงอาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานบุคคล และงบประมาณ รวมทั้งการให้บริการด้านเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มีอยู่เดิมของแต่ละองค์กร ต้องขาดความต่อเนื่อง และเกิดภาวะชะงักงันในเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
นางอมรา ยังกล่าวอีกว่า ตามหลักการปารีส สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องมี พ.ร.บ.เฉพาะเพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และประกันความเป็นอิสระรวมทั้งความยั่งยืนขององค์กร แต่การควบรวม ย่อมทำให้บทบาทขององค์กรใหม่ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ชัดเจน อาจถูกลดทอนความสำคัญได้ การให้มีกรรมการ 11 คน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละคนให้ชัดเจนส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กรใหม่ในด้านสิทธิมนุษยชนถูกแยกย่อยออกเป็นการพิทักษ์สิทธิในแต่ละด้านขาดการพิจารณาในองค์รวม ไม่สอดคล้องกับหลักการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากลและไม่อาจแบ่งแยกได้ อีกทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรากฎถึงการให้มีสำนักงานฯ ที่เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ที่จะทำให้ การบริหารงานขององค์กรเป็นไปโดยอิสระ
" ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เหมือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ และกฎหมายว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับหลักการปารีส ดังนั้น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นการสื่อสารว่า บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยถูกลดทอนความสำคัญลงทั้งที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศตลอดมา ปัจจุบันภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมิได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทั้งที่ผู้แทนไทยมีบทบาท และเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานดังกล่าวมาโดยตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระซึ่งรวมถึงกสม. ก็จะยิ่งเป็นการส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสวนกระแสของประชาคมระหว่างประเทศ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนวคิดที่จะให้ควบรวมองค์กรดังกล่าวของ คณะกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรง อาจเป็นการทำให้สังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศเข้าใจได้ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กสม.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล”
อย่างไรก็ตามในหนังสือของกสม.นั้นยังได้เสนอให้กรรมาธิการยกร่างพิจารณาถึงมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการขององค์กร ที่ทางกสม.เสนอไป ทั้งในด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย การเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประสานงานเครือข่าย และด้านการจัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพตามหลักการ 35 วรรคสอง ซึ่งจำเป็นกสม.จะต้องเป็นองคกรที่เป็นเอกเทศ
ด้านน.พ. นิรันดร์ มองว่า การควบรวมจะทำให้เกิดปัญหาการทำงานมากกว่าเสริมประสิทธิภาพ เพราะสององค์กรมีวัฒนะธรรมและภารกิจต่างกัน ยืนยันการทำงานไม่เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กรได้ร่วมหารือการทำงาน หากเรื่องร้องเรียนที่รับผิดชอบตรงกับภารกิจขององค์กรใด ก็จะโอนให้ไปรับผิดชอบ ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 ให้แยกสององค์กรเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการยื่นเรื่องร้องเรียน และอยากให้การทำงานแยกส่วนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น