xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบ สสส.4 พันล้านบาท ใช้ทำอะไร??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.เฉพาะ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่คล่องตัวกว่าราชการ โดยเน้นการทำงานในด้านของการสร้างเสริมสุขภาพและขยายงานมาในด้านของสุขภาวะแบบองค์รวมในปัจจุบัน

แหล่งเงินทุนสำคัญของ สสส. อย่างที่ทราบกันดี คือ มาจากเงินภาษีบาปคือ เหล้าและบุหรี่ ถือว่าเป็นอีกแหล่งเงินทุนหนึ่งที่คนในสังคมจับตามองว่ามากมายมหาศาล เห็นได้ชัดว่าจะมีการโฆษณาการรณรงค์ การออกแคมเปญที่คุ้นชินติดหู ติดปากคนไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นให้เหล้าเท่ากับแช่ง จน เครียด กินเหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา ฯลฯ จนหลายคนมองว่า สสส. เทงบประมาณลงไปกับการรณรงค์เหล่านี้มากมายมหาศาลเพียงใด
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.
เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ได้แถลงผลงาน สสส. ในปีที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยช่วงหนึ่งได้ชี้แจงถึงประเด็นการใช้งบประมาณว่า ความจริงแล้ว สสส. ใช้งบในเรื่องการรณรงค์ การจัดแคมเปญ การประชาสัมพันธ์ การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนน้อยมาก คือประมาณ 7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ได้จากภาษีเหล้าและบุหรี่เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้คนมองว่า สสส. ใช้งบเปลืองไปกับการจัดแคมเปญ ผู้จัดการ สสส. มองว่า เพราะ สสส.สามารถออกแคมเปญการรณรงค์ต่างๆ ได้ตรงใจคนในสังคมมากกว่า ซึ่งความจริงแล้วการใช้งบโฆษณานั้น สสส. ไม่ติด 10 อันดับสูงสุดของประเทศไทยเลย ใช้งบประมาณน้อยกว่า 10 กระทรวงที่ติดอันดับเสียด้วยซ้ำ แต่การรณรงค์กลับได้ผลมากกว่า เข้าถึงและติดหูประชาชนมากกว่า ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งที่ใช้งบประมาณเพียงน้อยนิด ซึ่งในปี 2558 สสส.ตั้งเป้าว่า จะขยายการรับรู้ข่าวสารให้ได้ 5 ล้านคนภายในอีก 3 ปี

แน่นอนว่าเมื่อชี้แจงถึงงบประมาณการจัดแคมเปญแล้ว แล้วงบประมาณอย่างอื่นของ สสส. หมดไปกับการทำอะไรบ้าง ประเด็นนี้ ทพ.กฤษดา ชี้แจงอย่างละเอียดว่า งบประมาณเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 1. งบปัจจัยเสี่ยงหลัก ในการแก้ปัญหาเหล้า บุหรี่ เด็ก สตรี การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ประมาณ 34% 2. งบสื่อสารและการเรียนรู้ประมาณ 13% ซึ่งงบในการจัดแคมเปญ ประชาสัมพันธ์ และโฆษณานั้นใช้มาจากงบส่วนนี้คิดเป็น 7% 3. งบชุมชน ท้องถิ่นประมาณ 12% 4. งบเด็ก เยาวชน และประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ กลุ่มชายแดนชายขอบ ประมาณ 11% 5.งบองค์กรเอกชนและกลไกประมาณ 10 6. งบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค สุขภาพจิต เป็นต้น ประมาณ 8% 7. งบส่งเสริมโอกาสและนวัตกรรมประมาณ 6% และ 8. งบบริหารจัดการอีกประมาณ 5%

“อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูแล้ว สัดส่วนงบประมาณของ สสส. ถือว่าลดลง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ หน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือว่าลดลงชัดเจน โดยปี 2548 ได้รับงบประมาณคิดเป็น 5% ของงบประมาณ สธ. และ 3.36% ของงบประมาณ สปสช. ส่วนปี 2557 สสส. ได้รับงบประมาณคิดเป็น 3.7% ของงบประมาณ สธ. และ 2.58% ของ สปสช.เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าตัวเลขลดลง นั่นเป็นเพราะประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณที่เข้า สสส. ยังประมาณเท่าเดิม ซึ่งตรงนี้ถือว่าทำให้งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จะดูแลประชากรทั้งประเทศน้อยลงไป ทั้งที่การดำเนินงานด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน ควรจะเป็นลักษณะของการสร้างนำซ่อม แต่ปัจจุบันการใช้งบประมาณกลับเป็นการซ่อมนำสร้าง คือ รักษาพยาบาลมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะชี้แจงการใช้งบประมาณในแต่ละหมวด แต่เพื่อให้องค์กร สสส. โปร่งใสขึ้น ทพ.กฤษดา ระบุว่า ในปี 2558 จะเดินหน้าทำให้องค์กรมีความโปร่งใส โดยการนำข้อมูลการทำงาน โครงการต่างๆ มาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ สสส. เหมือนกับหน่วยงานราชการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน โดยจะย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ โดยเฉพาะปี 2558 ซึ่งจะเน้นให้เกิดโครงการขนาดเล็ก Nano Project ให้มากขึ้น กลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 2 หมื่นคน ก็จะให้ภาคประชาชนหลายภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณ แต่โครงการใหญ่ๆ ยังคงต้องมีทีมตรวจสอบตามปกติ นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และต้องทำรายงานเข้า ครม. และสภาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วย

ถือว่าเป็นฟ้าใหม่ ปีใหม่ ที่ สสส. พร้อมจะเปิดกว้างให้เกิดการตรวจสอบการใช้งบประมาณ หลังจากที่ผ่านมามักมองว่าเป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบยาก และประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลการใช้งบประมาณของ สสส. คงต้องจับตามองว่า การเปิดกว้างในครั้งนี้ จะเปิดกว้างให้สาธารณชนตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงบประมาณมหาศาลแน่นอนว่าคนในสังคมย่อมต้องการทราบข้อเท็จจริง!!

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น