สสส. อวดลดเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุลงได้ แต่ยอมรับสวนทางโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น เร่งเดินหน้าสร้างเมืองสุขภาวะ นำร่อง กทม. ก่อนที่แรก เผยประชาชนสนใจอาหารสุขภาพและออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เล็งประสานเอกชนทำอาหารสุขภาพขาย จัดแอปพลิเคชันสุขภาพเข้าไลฟ์สไตล์คนเมือง ส่วนชนบทเน้นทำงานในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น สร้างภาคีเครือข่าย และการรับรู้แคมเปญ พร้อมทำ สสส.เป็นองค์กรโปร่งใสตรวจสอบได้
วันนี้ (13 ม.ค.) ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลงาพภายรวมการทำงานของ สสส. ในปี 2557 ว่า ตลอด 13 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุน สสส. ได้ให้ความสำคัญกับการลดปัจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ คือ เรื่องบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ โดยพบว่าสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้อย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 32 ในปี 2534 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 19.94 ในปี 2556 ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 6.46 ลิตรต่อคนในปี 2548 เหลือ 6.08 ลิตรต่อคน ในปี 2552 และอัตราการดื่มในระดับอันตรายลดลงจากปี 2547 ที่ร้อยละ 9.1 เหลือร้อยละ 7.3 ในปี 2555 รวมทั้งคนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เหลือ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนอัตราการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดอัตราการตายลงได้ร้อยละ 37 ช่วยลดความสูญเสียได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท สรุปคือ 13 ปีที่ผ่านมาเราสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานตลอดปี 2557 แบ่งเป็น 5 ประเด็น คือ 1. การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะ สามารถเพิ่มได้ 7,000 แห่ง ครอบคลุมประชากร 11 ล้านคน แบ่งเป็นตำบลสุขภาวะ ในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย รวม 2,632 ตำบล องค์กรสุขภาวะ ในการดูแลพนักงานแบบครบวงจร 4,456 องค์กร และพื้นที่สร้างสรรค์ 78 แห่ง 2. ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก 4 ประการ ประกอบด้วย เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และสุขภาวะทางเพศ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยประหยัดเงินได้ 2.4 หมื่นล้านบาท ลักดันงานบุญปลอดเหล้า งดขายเหล้าบนรถไฟ เพิ่มขนาดภาพคำเตือนซองบุหรี่เป็น 85% สร้างพื้นที่ต้นแบบจังหวัดปลอดบุหรี่ 15 จังหวัด อุบัติเหตุทางถนนลดลงจาก 9,716 คนในปี 2555 เหลือ 7,338 คนในปี 2556 อย่างช่วงปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ก็มีการจัดสวดมนต์ข้ามปีช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุลงได้ร้อยละ 20 การนำร่องการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 20 จังหวัด สร้างความเข้าใจเซ็กซ์วัยรุ่นเลือกได้ จัดการศึกษาเรื่องเพศศึกษาแนวใหม่ ให้เรื่องเพศที่เป็นเรื่องคุยกันได้ในครอบครัว เป็นต้น
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า 3. เพิ่มปัจจัยเสริมทางสุขภาพ โดยเน้นในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาวะในโรงเรียน ชุมชน ลดปัญหาขาดสารอาหาร และเพิ่มกิจกรรมทางกาย คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมงานวิ่ง ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น 4. สนับสนุนนโยบายระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวม 33 นโยบาย เช่น ห้ามขายเหล้าบนรถไฟ นโยบาย 5 จริง 5 จอม เป็นต้น และ 5. จุดกระแสคนรักสุขภาพ การรับรู้แคมเปญสูงสุดถึง 89% เฉลี่ยทุกแคมเปญถึง 76% ซึ่ง สสส. ใช้งบในการจัดทำสื่อรณรงค์เพียง 7% ของงบประมาณเท่านั้น ถือว่าน้อยกว่ากระทรวงต่างๆ แต่สามารถเข้าถึงประชาชนได้มาก ทำให้ สสส. มีภาพลักษณ์ว่าใช้งบประมาณจำนวนมากในการรณรงค์
“ ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานต่อในปี 2558 มี 5 เรื่อง คือ 1. จัดการปัญหาบุหรี่และแอลกอฮอล์ในชนบท โดยจะทำร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรในพื้นที่มากขึ้น 2. พัฒนาสุขภาพเขตเมือง ร่วมกับองค์กรเอกชน วัด กองทัพ สถาบันศึกษา พัฒนาต้นแบบเมืองสุขภาพดี “Urban Health” โดยเริ่มนำร่องที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชันดูแลสุขภาพให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง 3. ดูแลสุขภาพกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ คนชายขอบ และวัฒนธรรมเฉพาะ อาทิ คนมุสลิม 4. ขยายฐานผู้รับประโยชน์ โดยลงไปทำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในระดับเล็กลงมากขึ้น เรียกว่า นาโนโปรเจกต์ ให้มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 รายใน 3 ปี เพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารให้ได้ 5 ล้านคน ใน 3 ปี และกระจายศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศ และ 5. ทำให้เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลแบบรัฐบาล ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน นำร่อง Integrity Pact คือ ให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น ” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สสส. สามารถลดกการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลงได้มาก แต่สวนทางกับโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น จะต้องลงไปสร้างเสริมสุขภาวะในด้านใดเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า แม้เหล้า และบุหรี่ จะเป็นปัจจัยและสาเหตุในการก่อโรค NCDs แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างมากอีกก็คือเรื่องการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ สสส. ขับเคลื่อนในทศวรรษนี้ อย่างปัจจุบันคนหันมาสนใจเรื่องอาหารสุขภาพมากขึ้น อยากออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่สภาพวดล้อมปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถซื้อหาอาหารเพื่อสุขภาพได้ตามข้างทาง พื้นที่การออกกำลังกายน้อย เราก็ต้องมาส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้ คือ โครงการ Urban Health ในการสร้างเมืองสุขภาพดี โดยอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถออกกฎหมายให้เขาผลิตอาหารเพื่อสุขภาพได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่