สธ. จับมือ สสส. และภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชวนประชาชนงดเหล้าเข้าพรรษาคืนความสุขให้คนในครอบครัว เตรียมขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อปกป้องลูกหลานจากภัยน้ำเมา หลังพบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 2.5 แสนคน
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ หลักสี่ กทม. นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกล่าวปาฐกถาในเวทีสานพลังภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สัญญางดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมให้กำลังใจคนงดเหล้าให้ครบ 3 เดือน” จัดโดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยปาฐกถาว่า มติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีคนที่งดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มจากร้อยละ 15 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 60 และสามารถงดเหล้าตลอด 3 เดือนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 ประหยัดเงินได้ถึง 2 - 3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรม และลดปัจจัยการเกิดโรคได้ถึง 200 โรค
ข้อมูลจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยปี 2552 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการดื่มเหล้าประมาณปีละ 26,000 คน และเกิดความสูญเสียปีสุขภาวะเป็นอันดับ 1 โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ประเมินมูลค่าผลกระทบมีมากถึง 1.51 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.97 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นอกจากนี้ ยังพบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 250,000 คน ได้ตั้งเป้าจะลดนักดื่มหน้าใหม่อายุ 15 - 19 ปี จากร้อยละ 14 ในปี 2554 ให้เหลือร้อยละ 13 ในปี 2557 เพราะกลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะเป็นลูกค้าบริษัทเหล้าในระยะยาวโตขึ้น มีโอกาสติดเหล้าร้อยละ 70 เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น อุบัติเหตุ พิการ ท้องไม่พร้อม โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลต่อคุณภาพประชากรระยะยาว ทั้งนี้ การที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เนื่องจากพบว่ามีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 5 แสนแห่งที่ถูกกฎหมาย ประชาชนใช้เวลาเดินทางไปซื้อได้ภายใน 4.5 นาที ที่สำคัญเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยไม่มีการปฏิเสธจากผู้ขายหรือการตรวจดูอายุมากถึงร้อยละ 99
ดังนั้น สธ. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและทุกภาคส่วนจะได้เร่งขับเคลื่อนกฎหมาย และนโยบาย 4 มาตรการ คือ 1. การพิจารณาทบทวนการห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบเช่นเดียวกับการห้ามโฆษณายาสูบ 2. มาตรการใหม่ ได้แก่ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และห้ามจำหน่ายในทางสาธารณะ เช่น ถนนและทางรถไฟ รวมทั้งการใช้ภาพคำเตือนบนฉลาก ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และ 4. มาตรการตาม พ.ร.บ.สุราฯ เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การกำหนดเงื่อนไข ขั้นตอนการออกใบอนุญาต ใบอนุญาตการผลิต และการกำหนดความหนาแน่นของสถานที่จำหน่ายสุรา
นอกจากนี้ จะได้ช่วยสนับสนุนให้งานรณรงค์งดเหล้าฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มคลินิกบำบัดผู้ติดสุราในโรงพยาบาลจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 452 แห่ง และจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมรณรงค์และการคัดกรองผู้ดื่มสุราในชุมชนเชิญชวนให้ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ จะมีหมู่บ้านรณรงค์อย่างจริงจัง 350 แห่งทั่วประเทศ และหวังว่าจะทำให้มีคนงดเหล้าครบ 3 เดือนเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะมีคนกลับมาดื่มระหว่างพรรษาประมาณร้อยละ 20 สาเหตุเพราะต้องเข้าสังคม นอกจากนั้น บทบาทภาคประชาสังคมจะช่วยเร่งมาตรการกฎหมาย การแจ้งเบาะแสการทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณา และการขายเหล้าให้กับเด็ก ซึ่งต้องยอมรับว่าเรายังมีข้ออ่อนเรื่องนี้มาก
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่