เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทย ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ลด แต่ภาวะอ้วนเพิ่มจนน่าห่วงสูงถึง 19 ล้าน โดยหญิงไทยติดอันดับ 2 ของเอเชีย ส่วนความดันมีมากถึง 13 ล้าน เบาหวาน 4 ล้าน และอีก 7.7 ล้านเสี่ยงเบาหวานในอนาคต
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย” จากความร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด จำนวน 19,468 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจการเฝ้าระวังทางสุขภาพของคนไทยระดับประเทศ
ผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมสุขภาพที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 4 ปี 2552 ใน 4 เรื่อง คือ การสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ จากร้อยละ 19.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2557 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง จากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 3.4 กินผักและผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวันขึ้นไปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ร้อยละ 25.9 หรือ 1 ใน 4 และการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น เดิน ขี่จักรยาน อยู่ในระดับคงที่ร้อยละ 80
“สิ่งที่น่าห่วงคือ ภาวะอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกกลุ่มวัย คนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน ภาวะความดันโลหิตสูงถึง 13 ล้านคน และคนที่เป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน กลุ่มหลังหมายถึง ร้อยละ 5-10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ”
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า แม้พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบาย ภาคสังคม และภาควิชาการ แต่เป็นสิ่งที่ สสส.และภาคีเครือข่ายยังคงต้องรณรงค์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ โดยงานที่ต้องเน้นหนักและเฝ้าระวังคือ การมีกิจกรรมทางกายที่ยังไม่เพิ่มขึ้นชัดเจนจากวิถีชีวิตที่ใช้แรงงานน้อยลง การใช้เวลาไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และสมาร์ทโฟน การทำงานของ สสส.ต่อไปจึงเน้นการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัย และสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายระดับชาติภายในปี 2559 และร่วมเสนอยุทธศาสตร์ระดับสากลในสมัชชาองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2560 พร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลดหวาน มัน เค็มลง
ศ.นพ.วิชัย เอกาพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น จากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 kg/m2) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพศชายมีจำนวนร้อยละ 32.9 และเพศหญิง ร้อยละ 41.8 โดยเพศชายในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนสูงสุด สำหรับผู้หญิงทุกภูมิภาคมีสัดส่วนไม่ต่างกัน และภาวะอ้วนในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับดัชนีมวลกายหรือ BMI พบว่า หญิงไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยดัชนีมวลกายเฉลี่ยของหญิงไทยอยู่ที่ 24.5 kg/m2 อันดับ 1 คือมาเลเซีย ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 25.7 ขณะที่ผู้หญิงในญี่ปุ่นและฮ่องกงมีภาวะอ้วนลดลง
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีสัดส่วนการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเพศชาย อยู่ที่ร้อยละ 9.8 และ 7.9 ตามลำดับ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงที่สุด ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 43.1 ของผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน เท่ากับว่า ภาระโรคเบาหวานในปัจจุบันมีคนที่เป็นเบาหวานแล้วมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งภายในร้อยละ 5-10 ต่อปีจะป่วยเป็นเบาหวาน