สสส. จับมือ 16 โรงเรียนในพื้นที่ กทม. เปิดตัวโครงการ “โรงเรียนรักเดิน” หนุนเยาวชนไทยเพิ่มกิจกรรมทางกาย หันมาสนใจออกกำลังกายเพิ่มขึ้น หลังผลสำรวจสะท้อนเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแน่นิ่ง นั่งๆ นอนๆ ไม่เคลื่อนไหวเฉลี่ย 13 ชม. ต่อวัน เป็นสาเหตุเกิดโรคอ้วน ด้าน สสส. พัฒนาแอปพลิเคชัน วัดระดับกิจกรรมทางกายเพื่อเก็บสถิติด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. เปิดตัวกิจกรรม “โรงเรียนรักเดิน” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้เด็กไทยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและง่ายที่สุด โดยมีข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2556 พบว่า เด็กไทยอายุระหว่าง 6 - 14 ปี ใช้เวลาไปกับพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ หรือเคลื่อนไหวน้อยถึง 13:33 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15 - 24 ปี ใช้เวลาไปกับพฤติกรรมดังกล่าวถึง 13:12 ชั่วโมงต่อวัน เช่น การนั่งดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาประเภทต่างๆ มากกว่าเวลาของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนได้ อีกทั้งยังทำให้การ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง อาจส่งผลกระทบทางอารมณ์และสติปัญญา รวมทั้งอาจทำให้ขาดความใส่ใจในสังคมและไม่เห็นคุณค่าของตัวเองต่อสังคมในระยะยาวได้
“สำหรับกิจกรรมของ โรงเรียนรักเดิน จะส่งเสริมและสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ เด็ก ผู้ปกครอง และครูต่อการเดินเพื่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน เน้นให้ทุกคนโดยฉพาะเด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายโดยกำหนดระยะเวลา 2 เดือน (สิงหาคม - กันยายน 2557) โดยมีโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ระดับชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายเข้าร่วม จำนวน 16 แห่งเข้าร่วม นอกจากนี้ เครือข่าย สสส. ได้พัฒนาเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกาย และแอปพลิเคชัน (Application) ในโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บข้อมูลด้วยการตรวจวัดแคลอรี่ หรือค่าการเผาผลาญพลังงานและระยะเวลาที่ใช้ในการมีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายด้วย” รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว
ด้าน รศ.นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า แนวโน้มประชากรส่วนใหญ่ของไทยมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายไม่เพียงพอ หรือการเข้าสู่ภาวะแน่นิ่ง จากการใช้เทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ประกอบกับมีการบริโภคอาหารที่มีไขมัน และพลังงานสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตสุขภาพของคนไทย โดยข้อมูลของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนและลงพุงมีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 5% จากปี 2547 ถึงปี 2552 ในขณะที่แนวโน้มการออกกำลังกายมีการเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งคาดว่าไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มนี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เป็นเงินประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่กลุ่มเด็กเล็กและเยาวชนวัยเรียน มีการคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีเยาวชนถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทั่วกันว่าผู้ใหญ่ที่อ้วนมากประมาณร้อยละ 50 - 65 เคยเป็นเด็กอ้วนมากมาก่อน ดังนั้น จึงมีแนวคิดแบบบูรณาการในการพัฒนาเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย เพื่อตรวจวัดค่าการเผาผลาญพลังงาน แจ้งเตือน และแนะนำระดับการใช้พลังงานแบบอัตโนมัติสำหรับกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมทางกายเพื่อนันทนาการที่เหมาะสมกับบุคคลทุกกลุ่มอายุ และเพิ่มโอกาสการออกกำลังกายแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งหากสามารถกระทำได้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่