xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยส่อป่วยระนาว! พบแค่ 10% ออกกำลังเพียงพอต่อการป้องกันโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยเคลื่อนไหวร่างกาย - ออกกำลังน้อย พบแค่ 10% ที่ออกกำลังเพียงพอต่อการป้องกันโรค แนะพยายามออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ตามความเหมาะสม ระบุออกกำลังกายในฟิตเนส ต้องเลือกสถานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 5 ด้าน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทย พบว่า ประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 มีกิจกรรมทางกายต่ำ ส่วนการออกกำลังกายพบว่า ผู้ใหญ่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที ร้อยละ 22-24 และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ออกกำลังกายเพียงพอต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ดังนั้น ประชาชนควรหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน เป็นวัยที่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่างออกกำลังกาย ทั้งที่วัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะร่างกายต้องได้รับการรักษาและฟื้นฟูในส่วนที่สึกหรอจากการทำงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามเวลาและสถานที่ได้ เช่น การทำงานบ้าน หรือฝึกกายบริหารแบบง่ายๆ เช่น แกว่งแขน เดินขึ้นบันได เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น จะช่วยให้ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยควรเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 30 นาที และควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย และไม่หักโหมมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ผู้ที่เลือกออกกำลังกายในฟิตเนส จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ คือ 1. มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมคือ มีความมั่นคง แข็งแรง 2. มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย มีระบบและรายงานการตรวจเช็กอุปกรณ์ 3. มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน 4. มาตรฐานด้านบุคลากรผู้ให้บริการ ซึ่งต้องจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา

นพ.พรเทพ กล่าวว่า และ 5. มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน คือ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีแผนสำหรับเหตุฉุกเฉิน มีการซ้อมแผนช่วยชีวิตและระงับอัคคีภัยอย่างน้อยปีละครั้ง และมีระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งให้ผู้ดูแล หรือผู้ฝึกสอนทราบ เพื่อป้องกันอันตรายระหว่างการออกกำลังกาย และเจ้าหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพควรซักถามประวัติความเจ็บป่วยของผู้มาใช้บริการ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกาย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น