สสส. เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายครั้งแรกในเอเชีย อีก 2 ปีข้างหน้า ชี้คนไทยขาดกิจกรรมทางกาย สาเหตุเจ็บป่วย ตั้งเป้าปี 64 กระตุ้นเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป ไม่ออกกำลังมากขึ้น หวังลดภาวะน้ำหนักตัวเกิน - โรคอ้วนในเด็ก ด้านองค์กรต่างประเทศหนุน ดันกิจกรรมทางกายเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (The 6th ISPAH Congress; International Congress on Physical Activity and Health -ICPAH) ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นปี 2559 หรือในอีก 2 ปี ระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ โดย นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริม กิจกรรมทางกายและสุขภาพ และที่ปรึกษาคณะกรรมการ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้รับคำเชิญจาก ISPAH ให้ส่งข้อเสนอเพื่อรับการพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นงานประชุมระดับโลกว่าด้วยการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ประเด็นหลัก คือ Active Living for ALL คาดว่ามีผู้เข้าร่วม 800 - 1,200 คน ซึ่งไทยมีความพร้อมในการจัดประชุมระดับนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยเข้าสู่เวทีระดับโลกด้านนโยบายและด้านวิชาการกิจกรรมทางกาย เพื่อกระตุ้นผลักดันให้มีการผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยเพิ่มขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการสะท้อนแนวคิดกิจกรรมทางกายในบริบทประเทศอาเซียน หวังว่าเวทีนี้จะเป็นโอกาสสำคัญเพื่อพัฒนาทิศทางนโยบายกิจกรรมทางกาย และก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ในประเทศแถบอาเซียน
ด้าน นาย.ฟิโอน่า บูล ประธาน ISPAH กล่าวถึงบทบาทของ ISPAH และความสำคัญของการจัดงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชีย โดยงานนี้มีความสำคัญระดับโลก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “กิจกรรมทางกาย” หรือ “Physical activity” สามารถช่วยลดภาระของโรคเรื้อรัง และลดภาระด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศลงได้ ดังนั้น อยากให้การประชุมครั้งนี้กระตุ้นให้แต่ละประเทศสมาชิกกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยไม่อยากให้มองกิจกรรมทางกายเป็นเฉพาะเรื่องการออกกำลังกาย แต่อยากให้เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถ เข้าถึงง่าย ทำได้ทุกวันและสนุกกับมัน หลังจากนี้ ตนจะติดตามการทำงานของ สสส. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดประชุมนานาชาติในอีก 2 ปีข้างหน้าสมบูรณ์แบบที่สุด
ขณะที่ นางสุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับทุกภาคส่วน ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ เพิ่มปัจจัยบวกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น กิจกรรมทางกาย พื้นที่สุขภาวะ และส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะและกลุ่มวิถีชีวิตสุขภาวะสำหรับประชากรทุกกลุ่ม การขาดกิจกรรมทางกาย ที่เพียงพอกลายเป็นเหตุสำคัญของความเจ็บป่วย และเสียชีวิตที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลเชิงวิชาการ (The Lancet July 2555) บ่งชี้ว่า การขาดกิจกรรมทางกายเป็น พฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่การเสียชีวิตด้วย NCD ของประชากรโลกมากกว่าการสูบบุหรี่ ปัจจุบันอัตราชุกของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่อัตราการออกกำลังกายประจำของคนไทยกลับขยับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ถึงร้อยละ 1 ในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.1 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 29.7 ในปี 2557 เพราะคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ “การออกกำลังกาย” ที่เคลื่อนไหวร่างกายในระดับหนักและไม่น้อยกว่า 30 นาที/ครั้ง แต่ยังไม่ค่อยรับรู้ถึงความจำเป็นของ “กิจกรรมทางกาย” อย่างเพียงพอที่สามารถทำได้ทุกเวลาในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นบันได
ทั้งนี้ ในปี 2564 สสส. ตั้งเป้าจะเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายประจำของคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2562 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะ หรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ควบคู่ไปกับการสนับสนุน และสื่อสารรณรงค์เพื่อให้ การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย และลดพฤติกรรมแน่นิ่ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมและวิถีชีวิตของคนในประเทศ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ในการผลักดันนโยบายในระดับโลก จะเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์กิจกรรมทางกายในแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้เริ่มทาบทามประเทศต่างๆ เข้าร่วม คาดว่าจะแสดงผลสำรวจได้มากกว่า 40 ประเทศ เพื่อเสนอทิศทางที่แต่ละประเทศควรจะขับเคลื่อนต่อ รวมถึงเกิดความร่วมมือต่อไป