xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลของนักดื่มนักสูบที่แม้โฆษณาของ สสส.จะดีแค่ไหนก็ไม่ระคายผิว

เผยแพร่:   โดย: ชญานุช วีรสาร

คนที่เป็นนักดื่ม หรือนักสูบ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือคนทำงานวัยผู้ใหญ่ ถ้าขึ้นชื่อว่า “นัก” แล้ว ก็ยากที่จะเลิกง่ายๆ เพียงเพราะได้รับชมโฆษณารณรงค์เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. ที่ทยอยออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นระยะๆ ติดต่อกันหลายปี และจะถี่หน่อยก็ช่วงเข้าพรรษา หรือช่วงเทศกาลรื่นเริงประจำปี ซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ครีเอทีฟจะคิดได้ ทั้งสะเทือนใจทั้งตลก จนมีวลีติดปากผู้ชม เช่น เลิกเหล้าเลิกจน ให้เหล้าเท่ากับแช่ง งดเหล้าเข้าพรรษา จน เครียด กินเหล้า ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจจะเปลี่ยนทัศนคติหรือพฤติกรรมของพวกเขาได้

จากการที่ได้สอบถามพูดคุยกับนักดื่มและนักสูบจำนวน 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา อีกส่วนหนึ่งเป็นคนวัยทำงานอายุไม่เกิน 40 ปี พบว่า ทุกคนเคยรับชมโฆษณารณรงค์ของสสส. ทั้งที่จำเนื้อหาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือไม่ได้สนใจว่าเป็นโฆษณาของสสส. หลายคนจำความตลกของเรื่อง บางคนจำความสะเทือนใจ ซึ่งเรื่องที่สะเทือนใจนั้นอาจทำให้ฉุกคิดได้ แต่เมื่อเพื่อนชวนหรืออยากดื่มอยากสูบก็ลืม

เมื่อสอบถามว่าโฆษณาเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ของพวกเขาบ้างหรือไม่ 16 คนตอบว่า ไม่มีผลเลย ดูแล้วเฉยๆ ผ่านเลยไป หรือรับชมเพื่อความสนุกสนานมากกว่า ถึงแม้จะทำออกมาดีตรงกับชีวิตจริงแค่ไหนก็ไม่มีผล ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนอีก 7 คนตอบว่ามีผลเพียงชั่วคราว และ 2 คน ตอบว่ามีผลอย่างมาก โดยให้เหตุผลว่ากลัวตายก่อนแม่เพราะยังไม่มีโอกาสทดแทนบุญคุณ กับกลัวเรื่องสุขภาพ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้นานแค่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเลิกมาหลายหนแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีโฆษณารณรงค์ใหม่ๆ ออกมาสม่ำเสมอ นักดื่มและนักสูบ 19 คน ตอบค่อนข้างสวนทางกับข้อมูลข้างต้นว่า จำเป็นจะต้องมีโฆษณารณรงค์ต่อไป เพื่อกระตุ้นเตือนให้ลดปริมาณลง ขณะที่อีก 6 คนไม่เห็นความจำเป็น เนื่องจากไม่ได้ผลกับตนเอง และคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ควรทำโครงการอื่นที่ได้ผลมากกว่านี้ เช่น โครงการเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาล หรือออกกฎหมายที่รุนแรงขึ้น หรือไม่ก็เลิกจำหน่ายบุหรี่สุรา เป็นต้น
ส่วนเหตุผลที่จะทำให้นักดื่มหรือนักสูบเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ในอนาคต ส่วนใหญ่ตอบว่า ขึ้นอยู่กับใจตนเอง และครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นสำคัญ รองลงมาเป็นเรื่องสุขภาพ แต่เนื่องจากผู้ที่ตอบคำถามทุกคน ยังไม่มีปัญหาด้านสุขภาพเลย จึงมีจำนวนน้อยมากที่คำนึงถึง

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ให้เหตุผลว่า ถ้ามีกฎหมายรุนแรงขึ้น หรือเจอเหตุการณ์ร้ายแรงจากการดื่มหรือสูบก็อาจจะเลิก รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น ราคาและสถานที่จำหน่าย ถ้าแพงหรือหาซื้อยากเกินไปก็คงไม่ซื้อ การให้ความรู้อย่างจริงจัง ไม่ใช่สร้างเป็นเรื่องแต่งอย่างในโฆษณา รวมทั้งเหตุผลเรื่องของเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ทำให้ต้องเลิกไปเองโดยปริยาย

ยังมีการขยายความคำตอบที่น่าสนใจจากหลายๆ คำถาม เช่น คนดื่มเหล้าจะมองเรื่องสุขภาพ หรือความจนเป็นเรื่องรอง แต่ลดปริมาณการดื่มลง เพราะกลัวตำรวจจับมากกว่า ขณะที่บางคนไม่กลัวตำรวจเลยก็มี เพราะเคยโดนจับเป่าจนขึ้นไฟแดง ตำรวจก็ปล่อยไป อีกทั้งยังไม่กลัวตายด้วย โดยให้เหตุผลว่าคนแก่กินตั้งนานยังไม่ตายเลย แต่ตนอายุยังน้อยก็คงไม่เป็นไร บางคนตอบว่ายังไม่ถึงวัยที่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพ

นักดื่มและนักสูบในคนเดียวกันเล่าว่าเขาดื่มแต่อยู่บนความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับการสูบที่สูบเป็นที่เป็นทาง บางคนตอบว่าทุกคนรู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี แต่บางทีก็ไม่รู้จะมีอายุที่ยืนยาวไปทำไม บางคนเกิดความรู้สึกต่อต้านมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ชมโฆษณา เพราะเป็นฟรีแลนซ์เคยรับทำงานรณรงค์ให้กับสสส. และพบว่าทุกคนในทีมงานกลับดื่มและสูบกันทุกคน

บางคนชื่นชอบการสังสรรค์เป็นชีวิตจิตใจ โดยอ้างว่าเหล้าช่วยให้สนุกขึ้น คุยกันมากขึ้น กล้ามากขึ้น เขาเคยนั่งดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว ไม่สนุกเหมือนกับเพื่อนๆ และรู้สึกรำคาญคนเมา จึงต้องดื่มเพื่อให้สนุกตามสถานที่ที่ไป ขณะที่หลายคนห่วงเรื่องการเข้าสังคม และความรู้สึกของเพื่อนที่ชวน

และจากการสอบถามเจ้าของสถานบันเทิงชื่อดังในย่านสถานศึกษาของจังหวัดมหาสารคาม พบว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่สสส.รณรงค์ให้งดเหล้านั้น ก็ไม่มีผลต่อจำนวนนักเที่ยว และยอดขายเหล้าแต่อย่างใด อาจจะลดลงบ้างนิดหน่อยแต่ไม่ถือว่าผิดปกติ นิสิตนักศึกษายังคงใช้บริการคับคั่งเช่นเดิม โดยในช่วงนั้นจะจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต หรือมีโปรโมชั่นอยู่เรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมความบันเทิงและการตลาด คือตัวดึงดูดนักดื่มหรือนักสูบ มากกว่ารสชาติของเหล้าหรือบุหรี่
คำตอบเหล่านี้ ไม่ใช่ผลการวิจัยตามหลักวิชาการ แต่เป็นการรับฟังเสียงจากนักดื่มและนักสูบตัวจริงเพื่อต้องการทราบถึงอิทธิพลของโฆษณารณรงค์เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของสสส. ที่ทุ่มงบลงทุนมหาศาลในการทำโฆษณาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้คนส่วนใหญ่ที่เป็นนักดื่มหรือนักสูบจะเล็งเห็นประโยชน์จากโฆษณาดังกล่าว และสนับสนุนให้เดินหน้าทำต่อไป แต่ในทางตรงข้ามผู้ที่สนับสนุนกลุ่มเดียวกันนี้ก็มิได้คิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองตามวัตถุประสงค์ของการโฆษณา อาจกล่าวได้ว่าโฆษณาที่พยายามตอกย้ำซ้ำๆ และมีจำนวนมากนั้นไม่มีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายแต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์แก่สสส.ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นมากกว่าความตั้งใจที่จะมุ่งรณรงค์อย่างแท้จริง

หากมีการสำรวจกันอย่างจริงจังตามหลักวิชาการและไม่โกหกตัวเอง ก็น่าจะพบแนวทางการรณรงค์อื่นๆ ที่ได้ผลและคุ้มค่ามากกว่าการโหมโฆษณาทุกสื่อ หรือแม้แต่การสวดมนต์ข้ามปี รวมทั้งการเปิดใจยอมรับในพฤติกรรมและทัศนคติของนักดื่มนักสูบที่ต่างก็มีเหตุผลของตนเองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น