สสส.ชี้คนไทยร่วมงดดื่มเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มทุกปี พุ่ง 83.4% ช่วยประหยัดเงินมากกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท เน้นทำงานร่วมชุมชนสร้างทัศนคติใหม่ งดเหล้า สร้างบุญ ชู ต.ร่องเคาะ จ.ลำปาง พื้นที่ต้นแบบพลังชุมชนลดเหล้า สร้างมาตรการเมาทะเลาะวิวาท ดื่มเหล้างานบุญปรับเงิน
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่โรงเรียนบ้านห้วยก้อด ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดพิธีมอบใบประกาศเชิดชูเกียรติปวารณางดเหล้า/บุหรี่ครบพรรษา จำนวน 504 คน เนื่องในวันออกพรรษา โดยมีนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธี โดยพื้นที่ ต.ร่องเคาะ เป็นหนึ่งใน 10 ชุมชนต้นแบบสุขภาวะด้านการงดเหล้า
นายธงชัย ยงยืน หัวหน้าเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ปัญหาการดื่มสุราสำหรับคนไทยยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยปี 2557 มีประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 20 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเฉลี่ย 486 บาทต่อครั้ง หรือ เฉลี่ยคนละ 2,304 บาทต่อเดือน ขณะที่ผลการประเมินงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. ในปี 2557 ที่ผ่านมา สำรวจโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) มีประชาชนเกือบ 17 ล้านคนเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มในช่วงเข้าพรรษา หรือคิดเป็น 83.4% โดยในจำนวนนี้เกือบ 8 ล้านคน งดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษา คิดเป็น 39.4% งดการดื่มเป็นบางช่วง คิดเป็น 23.2% และไม่งดดื่มแต่ลดปริมาณการดื่ม 20.8%
“กลุ่มคนงดดื่ม-ลดดื่ม ระบุว่า ประหยัดเงินได้ตลอดช่วงเข้าพรรษาเฉลี่ยคนละ 1,455 บาท เมื่อประมาณการณ์ระดับประเทศจะเท่ากับประหยัดได้กว่า 24,557 ล้านบาท และจากการทดลองคำนวณการลดความถี่ในการดื่มลง พบว่า กลุ่มงดเหล้าตลอดพรรษา ประหยัดเงิน เฉลี่ยคนละ 6,912 บาท และกลุ่มลดการดื่ม ประหยัดเงินเฉลี่ยคนละ 2,538 บาท หรือเท่ากับจำนวนเงินที่ประหยัดได้ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 77,712 ล้านบาท ทำให้ประหยัดต้นทุนทางสังคม ทั้งทางตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดจากอุบัติเหตุ และทางอ้อม เช่น การสูญเสียความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงาน การสูญเสียชีวิต” นายธงชัย กล่าว
นายธงชัย กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย มีแนวทางการรณรงค์ให้คนไทยงดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยึดหลักการสร้างสรรค์สังคม โดยร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการสร้างทัศนคติใหม่เพื่อลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแบบยั่งยืน ใช้โอกาสการสร้างแรงจูงใจเปลี่ยนค่านิยมผ่านงานบุญประเพณี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ใช้การรณรงค์โดยตรงกับผู้ดื่มเหมือนที่คุ้นเคย เช่น รณรงค์บอกให้ผู้ดื่มลด ละ เลิกเพราะทำลายสุขภาพของตนเอง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งไม่ดี แต่เปลี่ยนเป็นรณรงค์ในโอกาส เข้าพรรษา ให้ชาวพุทธลด ละ เลิกเป็นการทำบุญสร้างกุศล และเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้ปลอดแอลกอฮอล์
นายชัยรัตน์ ทองใบ นายก อบต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ชุมชนตัวอย่างในการสร้างเครือข่ายคนงดเหล้า กล่าวว่า ชุมชนบ้านดอนแก้ว มี 235 ครัวเรือน คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ในพื้นที่มีโรงเหล้า 4 แห่ง และมีโรงเหล้ากลั่นชุมชน 2 แห่ง การดื่มเหล้าทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิต เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนนำมาสู่การพูดคุยในคณะกรรมการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยสร้างประชามติผ่านวงประชาคมหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องงดเหล้า โดยได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องนานถึง 10 ปี ผลงานที่ผ่านมา เช่น การงดเหล้าและอาหารดิบในงานศพ มาตรการปรับเงินเลี้ยงเหล้าในงานศพ มาตรการการคว่ำบาตรผู้ที่ยังเสพยาหรือค้ายา กรณีที่ดื่มเหล้าและทะเลาะวิวาทในตำบล มีการปรับเงินจำนวน 5,000 บาท ดื่มเหล้าและทะเลาะกันในงานหมู่บ้านปรับ 10,000 บาท ดื่มเหล้าในงานบุญ ปรับ 2,000 บาท การดูแลโดยอสม. แบ่งเขตพื้นที่ความรับผิดชอบต่อหลังคาเรือนคนละ 13 หลังเรือน ซึ่งการทำงานในตำบลร่องเคาะจะอยู่ภายใต้มติข้อบังคับที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการทำประชาคมหมู่บ้านและการเห็นพ้องร่วมกันของเสียงส่วนใหญ่
“การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปีที่ผ่านมา ในพื้นที่มีคนงดเหล้า 600 คน มีคณะทำงานหมู่บ้านประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. รับสมัครคนงดเหล้าซึ่งมีหลายทางเลือก ได้แก่ งดเหล้าครบพรรษา งดดื่มเหล้าวันพระ รวมถึงการงดเหล้าในวันเสาร์ อาทิตย์ เป็นช่องทางการปฏิบัติของแต่ละบุคคลตามความสามารถของตนเอง นอกจากนี้ยังคิดกิจกรรมทำบุญตักบาตรทุกวันพระ เชิญชวนผู้ที่งดเหล้าไปทำบุญเพื่อเป็นกุศลต่อตัวท่านเอง โน้มน้าวจิตใจผู้ดื่มที่งดเหล้าเข้าพรรษาให้อยู่กับจิตที่เป็นบุญเป็นกุศล นอกจากนั้นก็มีการมอบเกียรติบัตรคนงดเหล้าและมอบเสื้องดเหล้าเข้าพรรษา โดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ” นายชัยรัตน์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่