xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ส่งรายงานสิทธิฯปี56 ชี้"รบ.ปู"จัดการม็อบไม่ระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 27ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติรับทราบ รายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2556 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ กสม.รายงานว่า ในส่วนของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองของปี 2556 มีประเด็นถกเถียงอยู่ที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จะแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขเฉพาะบางมาตรา รวมทั้งการที่พรรคฝ่ายรัฐบาล เร่งรัดการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยยังไม่มีกระบวนการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จุดแตกหัก คือ พรรคการเมือง และส.ส.ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามเสนอ ร่าง กม.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดจากการชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง และลบล้างความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่เดือนก.ค.56 เป็นต้นมา
กสม.รายงานอีกว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้วางขอบเขต และหลักการของการแทรกแซงโดยรัฐต่อการใช้เสรีภาพของบุคคลว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมครั้งใด ผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิและเสรีภาพของตน หากเป็นการไปละเมิดต่อสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว รัฐก็สามารถเข้าแทรกแซง ด้วยการจำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าวได้
แต่จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยขาดความระมัดระวัง จนทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อีกทั้งรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือและเยียวยา แก่ผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วนและทั่วถึง
กสม.รายงานอีกว่า จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงปี 56 การที่สื่อมวลชนถูกคุกคาม จนทำให้สื่อมวลชนต้องเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ เป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องมีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งเร่งติดตามคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว และสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่เสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นโดยยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่นำเสนอข่าวด้วยความลำเอียง หรือมีอคติและไม่รอบด้าน จนทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปี56 นั้น เป็นช่วงของรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการชุมนุมของกลุ่ม “ม็อบเสธ.อ้าย”หรือ กลุ่ม “องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)”ในช่วงกลางปี 56 และเมื่อถึงเดือนส.ค. ก็เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และ เดือนต.ค. ก็แตกกลุ่มเป็น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) และต่อด้วยเดือนพ.ย. มีกลุ่มต่อต้านของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำหลัก และจากนั้นจึงยกระดับเป็นกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) .
กำลังโหลดความคิดเห็น