xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ-นักศึกษา” แจงกรรมการสิทธิฯ โวย คสช.คุกคามเสรีภาพ ถูกถาม “รับเงินทักษิณหรือไม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสม. เรียกนักวิชาการ-นักศึกษา ถกกรณี คสช. สั่งงดเสวนาวิชาการ ตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ เผยถูกซักถาม “รับเงินทักษิณหรือไม่” อีกทั้งมี จนท. นอกเครื่องแบบส่องความเคลื่อนไหวนักศึกษา รู้สึกไม่ปลอดภัย “เอกชัย ม.สยาม” แนะ คสช. บอกมาให้ชัดเจนว่าอะไรสอนได้ สอนไม่ได้ “สมชาย ม.เชียงใหม่” ซัดคุกคามเสรีภาพมีจริง แม้แต่เรื่องปี๊บยังห้าม แนะ กสม. แสดงสังคมโลกให้เห็นว่าถูกคุกคามเด่นชัด “หมอนิรันดร์” ยัน กสม. เป็นอิสระจากทุกฝ่าย

วันนี้ (29 ก.ย.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน ได้ประชุมกรณีมีการร้องเรียนว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอความร่วมมือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน งดกิจกรรมแถลงข่าวและเสวนา “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. และกรณีขอความร่วมมือกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยงดจัดกิจกรรม ห้องเรียนประชาธิปไตย บทที่ 2 เรื่อง “การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 13 ก.ย. รวมทั้งกรณีที่ขอให้ยกเลิกจัดกิจกรรมทางวิชาการ “ความสุขและความปรองดอง ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการที่ผ่านมา โดยมี นางกัญญา หิรัณย์วัฒนพงศ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายเอกชัย ไชยนุวัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, นายพิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ในการประชุมตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหลังถูก คสช. สั่งงดจัดกิจกรรมการห้องเรียนประชาธิปไตย กล่าวว่า หลังถูกสั่งเลิกจัดเสวนา มีการนำตัวนักศึกษาที่เป็นผู้จัดงาน อาจารย์ที่เป็นวิทยากรไปที่สถานีตำรวจ และให้นักศึกษากรอกประวัติ ซักถามข้อมูลส่วนตัว โดยมีคำถามทำนองว่า “รับเงินจากทักษิณมาหรือไม่” “หอพักอยู่ที่ไหน” “ห้องอะไร” อีกทั้งที่ผ่านมายังสังเกตได้ว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้แฝงตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อคอยดูว่าพวกนักศึกษาจะจัดกิจกรรมอะไร ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ทางด้านอนุกรรมการจึงได้ให้อาจารย์ที่เป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปแจ้งผู้บริหารให้ทราบเรื่องดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้าน นางกัญญา กล่าวว่า การจัดงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อมีการตั้งรัฐบาล แถลงนโยบายเรียบร้อย ก็เห็นเป็นช่องทางที่ดีที่นักศึกษา ประชาชน ควรได้พูดคุยกันถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะที่มหาวิทยาลัยถือเป็นสถานศึกษา ที่ย่อมต้องให้ความรู้กับประชาชนได้อยู่แล้ว แต่กลับมีคำสั่งด้วยวาจาให้ระงับการจัดกิจกรรม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงและกลายเป็นรัฐ คสช. ละเมิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียเอง

ด้าน นายเอกชัย กล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดทางการเมืองตอนนี้ ตนรู้ว่าอะไรพูดได้และไม่ได้ และงานเสวนาที่ผ่านมาตนก็ได้ถูกกำชับจากผู้จัดงานว่า อยากให้พูดในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยเน้นในเรื่องความปรองดองที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้เป็นการพูดว่าใครถูกใครผิด แต่งานเสวนาที่เชียงใหม่ก็ยังถูกยกเลิก ตนยังเคยเอาบทสัมภาษณ์ของ นพ.นิรันดร์ มาสอนนักศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ระบุถึงอำนาจในการจำกัดสิทธิ์ว่า เหมือนเป็นยาเสพติด ใช้แล้วไม่อยากเลิก เช่นเดียวกับตอนนี้ ทหารและรัฐบาลมีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ในภาวะฉุกเฉินของรัฐ แต่ในทางกฎหมายขณะนี้การรัฐประหารมันจบสิ้นไปแล้ว จึงต้องถามว่าอะไรคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราจะใช้ได้ คสช. ควรประกาศเป็นนโบายให้ชัดเจนเรื่องข้อจำกัด มหาวิทยาลัยจะได้รู้ว่าอะไรสอนได้และสอนไม่ได้

ส่วน นายสมชาย กล่าวว่า ถึงตอนนี้น่าจะเป็นที่ตระหนักได้แล้วว่ามีการคุกคามเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การจัดเสวนาที่ธรรมศาสตร์และเชียงใหม่ไม่ได้นั้น ทำให้ตนโกรธมาก ตนจึงเตรียมที่จะจัดเสวนาเรื่องปี๊บ โดยไม่ขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการเเป็นสิ่งที่นำเสนอได้ แต่ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพันมาพูดคุยกับจนพร้อมกับคณบดีนิติศาสตร์ว่าขอความร่วมมือให้งดจัดงานเสวนาดังกล่าว ตนจึงกล่าวว่าหากจะไม่ให้จัดต้องทำหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งมา ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมออกหนังสือ พอตนยืนยันว่าจะจัดสุดท้ายก็ยอมออก

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนพยายามเรียกร้องคือการแสดงออกเสรีภาพและความคิดเห็นเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการหรือนักศึกษา ถ้าออกกฎหมายไม่เข้าท่าออกมาทุกคนก็ต้องมีสิทธิแสดงความเห็น เพราะในตอนนี้เหมือนกฎหมายคิดเองเออเอง คล้ายกับรับคำสั่งจากคณะรัฐประหารมากกว่า โดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่ยังใช้อยู่ ทั้งที่การประกาศใช้ต้องเฉพาะเกิดเหตุจลาจลหรือเกิดภัยคุกคามที่เห็นได้ชัด คำถามคือมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนมโนกันเอาเองเท่านั้น ตนไม่เห็นเหตุผลว่ากฎหมายนี้ควรต้องประกาศใช้อยู่ ดังนั้น จึงขอเสนอให้ กสม. ช่วยกันแสดงต่อสังคมโลกให้เห็นว่าการที่นักศึกษาและบรรดาอาจารย์ต่างๆกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้กำลังถูกคุกคามอย่างเห็นได้ชัด ต้องช่วยกันแสดงให้เห็นว่าระบอบเผด็จการยังคงอยู่ เพราะกสม.ในฐานะเป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องพูดสิ่งเหล่านี้

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กสม. มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องสะท้อนปัญหาให้รัฐได้รับรู้ถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กสม.ไม่ได้ยอมให้กับอำนาจของทหารอย่างที่เข้าใจ เพียงแต่มีกระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างการประชุมวันนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่มาแจ้งว่าติดภารกิจ กสม. ก็ต้องเชิญมาในภายหลัง เพราะต้องฟังข้อมูลจากทุกด้าน ซึ่งจากนี้ กสม. จะมีการทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการ และอธิการบดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า กสม. เป็นอิสระจากทุกฝ่ายซึ่งมีหลักการและเหตุผลในการปกป้องสิทธิมนุษยชน






กำลังโหลดความคิดเห็น