xs
xsm
sm
md
lg

84 ปี ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ช่วงปี 2535 – 2539 สมัยที่ต้องเขียนหนังสือทุกวัน ๆ ละ 2 ชิ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ผมจะมีกระเป๋าเอกสารติดตัวอยู่ใบหนึ่ง ในนั้นจะมีหนังสือสี่ห้าเล่มไว้หาความรู้และค้นคว้าอ้างอิงในการเขียน หนังสือ 2 เล่มและต่อมาเพิ่มเป็น 3 เล่มในสี่ห้าเล่มเป็นผลงานของผู้เขียนคนเดียวกัน

“กฎหมายกับความเป็นธรรมในสังคม”

“รวมบทความเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญ”


และ

“คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย”

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ถือเป็นนักนิติศาสตร์ร่วมสมัยคนสำคัญของประเทศไทย ได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชากฎหมายมหาชนยุคใหม่ งานคิดงานเขียนของท่านตั้งแต่ยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หมาด ๆ มีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ระดับนำในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งตัวผมที่เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 2 เมื่อปี 2517 มีบทบาทเปลี่ยนแนวทางเดินชีวิตนักเรียนกฎหมายหลายคนจากเป้าหมายเดิมเพื่อเป็นนักกฎหมายหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมาเป็นนักนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชากฎหมายมหาชน

บทความที่โดดเด่นจนถือว่าเป็นตำนานและเป็นอมตะในช่วงปี 2517 คือ

“นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ”

ณ วันนี้ถือเป็นเป็นหนึ่งในตำราพื้นฐานของวิชากฎหมายมหาชน ได้รับการอ้างถึง และตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในวารสารกฎหมายขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยทุกครั้ง

ช่วงปี 2516 – 2519 ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เขียนบทความหลายชิ้นแสดงออกถึงความมุ่งมั่นต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการนิติศาสตร์ เพื่อการปรับปรุงองค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นสืบสวนสอบสวนและฟ้องร้อง หรือนัยหนึ่ง Inquisitorial System ที่ถูกมองข้ามความสำคัญไปในประเทศไทย

บทความดังกล่าวรวบรวมเป็นเล่มพ็อกเก็ตบุ๊คในปี 2518 โดยคณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์วันรนพี 2518 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื้อหายังคงโดดเด่นอย่างยิ่งและทันสมัยแม้จนกระทั่งปัจจุบันที่เวลาล่วงเลยมาร่วม 40 ปีแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเริ่มปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศกันอีกครั้ง

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์รามือจากการเขียนบทความเผยแพร่ต่อสาธารณะไป โดยไปรับตำแหน่งราชการเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษีกา ร่วมสร้างสรรค์งานที่ต่อมาอีกถึง 20 ปีเศษจึงได้ฤกษ์ก่อตั้งเป็นศาลปกครอง องค์กรที่สำคัญยิ่งในการควบคุมการใช้อำนาจบริหาร หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่าอำนาจทางแพ่งส่วนมหาชน

ไม่ว่าการปฏิรูปการเมืองที่ก่อเค้าลางมาตั้งแต่ปี 2537 และเสมือนจบลงด้วยประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะสำเร็จหรือล้มเหลวด้วยมุมมองใดก็ตาม แต่ศาลปกครองก็สามารถโดยสารมาเกิดในประเทศนี้แล้ว และจะไม่ตายไปพร้อมรัฐธรรมนูญ

มีความพยายามหลายครั้งนับแต่ปี 2476 ที่จะตรากฎหมายเกี่ยวกับศาลปกครอง และ/หรือ เพิ่มขาที่ 2 คือการพิจารณาคดีปกครอง ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ล้มทุกครั้ง (ปี 2478, 2489, 2499 และ 2500) ด้วยสาเหตุต่างกันไป

ขาที่ 2 ของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเกิดขึ้นในปี 2522 จากพ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 บัญญัติให้มีคณะกรรมการ 2 ประเภท คือ กรรมการร่างกฎหมาย และกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์

กรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์นั้นปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีปกครอง

เป็นการวางรากฐานอย่างมั่นคงให้กับศาลปกครองที่จะตามมาในอีกกว่า 20 ปีต่อมา ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และฐานทางวิชาการ โดยเชื่อว่าจะให้เวลาและสถานการณ์เป็นผู้สร้างหลักกฎหมายปกครองของประเทศไทยขึ้นมาเอง เพื่อขจัดจุดอ่อนข้อสำคัญที่มักมีผู้ยกมาคัดค้าน

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ และเหล่านักนิติศาสตร์-นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ที่ได้อิทธิพลทางความคิดจากท่านในช่วงปี 2517 ร่วมกันมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญยุคใหม่ที่ส่งผลมาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดศาลปกครองในระบบศาลคู่ หลังจากก่อนหน้านี้ กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่มีอันต้องล้มเหลวไปทุกครั้งในปี 2526, 2529, 2531, 2532, 2538 และ 2539

กว่าจะบรรจุหลักการว่าด้วยศาลปกครองในระบบศาลคู่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อไปรวมกับหลักการใหม่ ๆ อื่น ๆ ของแนวทาง Constitionalism หรือนัยหนึ่งจำกัดและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ต้องประสบกับการคัดค้านต่อต้านทางวิชาการทางทฤษฎีการเมืองมากมาย

ปี 2535 เป็นช่วงระยะเวลาคล้าย ๆ ปี 2517 ที่ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะผ่านบทความที่เป็นตำนานและอมตะหลายชิ้น ปัจจุบันบทความเหล่านั้นรวมเล่มอยู่ในหนังสือเล่มของสถาบันนโยบายศึกษาของศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช โดยความสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์

“รวมบทความเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญ”

ปี 2537 - 2539 เป็นอีก 1 ช่วงระยะเวลาที่ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เปิดตัวต่อสาธารณะ โดดเด่นที่สุดในบทความที่บัดนี้กลายเป็นตำราเรียนไปแล้ว จึงได้รับการจัดพิมพ์ทั้งโดยสถาบันนโยบายศึกษา และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย”

บทความชุดนี้ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันตลอดเดือนเมษายน 2537 ถือเป็นผลึกทางความคิดที่สมบูรณ์มากในยุคนั้น และเป็นที่มาสำคัญของการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

แต่การปฏิรูปการเมืองก็ไม่สำเร็จ

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ตอบคำถามชัดเจนว่าที่ไม่สำเร็จเพราะไม่ได้ทำลาย “ระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง” ผ่านบทความขนาดยาวอีกสองสามชุดลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันตลอด 10 ปีต่อมา และการปฏิรูปการเมืองที่ถูกที่ควรจะต้องเป็นอย่างไร

เมื่อทบทวนอ่านงานเขียนของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ในแต่ละช่วงเวลาแล้วนำมาปรับประยุกต์กับปัญหารูปธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่แปลกใจเลยที่ท่านไม่จำเป็นจะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรอีกมากนัก

เพราะท่านเคยพูดไว้หมดแล้ว

แม้โครงสร้างของปัญหาจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็น้อยนิดเต็มที หลักใหญ่ ๆ แล้วยังคงเดิม

ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะมองเห็นหรือไม่

แม้ผมจะไม่ได้ประกอบวิชาชีพเป็นนักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการเต็มรูปแบบ แต่ในการทำงานตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาไม่ว่าจะในฐานะคนเขียนหนังสือหรือในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ได้อาศัยความรู้ที่ได้รับจากงานเขียนของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์มาเป็นหลักเสมอ ท่านจึงเป็นครูคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตผม แม้แทบจะไม่เคยมีวาสนาได้เป็นนักเรียนในชั้นเรียนของท่านเลยก็ตาม

เนื่องในวโรกาสครบรอบ 84 ปีของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 ศิษย์น้อยคนนี้ขอกราบอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอำนวยพรให้ครูของผมมีความสุขด้วยเทอญ
กำลังโหลดความคิดเห็น