xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สั่งปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อเลือดรักชาติที่เข้มข้น !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับเป็นบริบทหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการที่พยายามปลูกฝังความรักชาติให้แก่เด็กและเยาวชน อันเนื่องจากกระแสความรักชาติที่เข้มข้นได้เริ่มขยายวงกว้างหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้นำ คสช.ได้ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจจากนักการเมืองอภิมหาคอร์รัปชั่น ทางกระทรวงศึกษาธิการเริ่มตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่รักและหวงแหนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้บรรดานักการเมืองผู้กระหายหิวโกงกินชาติบ้านเมืองกันจนใกล้จะสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินกันเช่นทุกวันนี้ ว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้ซึมซับถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อก่อร่างสร้างชาติและปกป้องแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษที่เอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าแลก อีกทั้งไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะประชาชนคนไทยที่ต้องหวงแหนและช่วยกันดูแลชาติบ้านเมือง

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นว่าก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในยะระยาวก็คือการปรับปรุงรายละเอียดในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองให้มีเนื้อหาที่เข้มข้นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ชี้ว่าเหตุที่เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองที่อยู่ในตำราเรียนของเด็กๆ มีค่อนข้างน้อยก็เพราะเนื้อหาดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ส่งผลให้เนื้อหาถูกลดทอนบทบาทและความสำคัญลงไป จึงควรที่จะมีการแยกวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และเพิ่มเนื้อหาในวิชากล่าวให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของการเป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติสืบไป

“ ปัจจุบันการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองนั้นยังคงมีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) เพียงแต่ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จึงอาจทำให้เนื้อหาและเวลาในการเรียนมีน้อยกว่าที่ผ่านมา ทำให้เด็กอาจได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รวมถึงตระหนักในและเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองไม่ดีมากนัก ดังนั้น เห็นว่าน่าจะพัฒนาวิธีการเรียนการสอนทั้ง 2 วิชานี้ให้ชัดเจน โดยอาจจะต้องแยกออกจากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ ด้วย โดยขณะนี้ได้แต่งตั้ง นายวินัย รอดจ่าย ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อวางแผนพัฒนาการสอนและศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการแยกสองวิชานี้ออกมาจากหมวดสังคมศึกษาให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสอนวิชาศีลธรรมนั้นก็ยังมีอยู่เพียงแต่รวมอยู่ในวิชาพระพุทธศาสนาซึ่งเด็กทุกคนต้องเรียน”

ขณะที่ นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประชุมร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ผบ.ทร. ได้พูดถึงการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่ของพลเมือง รวมถึงการสอนศีลธรรมแก่นักเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและควรส่งเสริมการเรียนให้เข้มข้น ซึ่งผมได้รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สพฐ. ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนทั้ง 2 วิชานี้มาก ซึ่งก่อนหน้านี้ย้อนไป 7-8 ปีที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์จะถูกบรรจุอยู่ในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) แต่ก็มาพบปัญหาว่าครูที่สอนวิชา สปช. เลือกสอนในหมวดที่ตนเองถนัด ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรฯ ก็ได้ปรับมาอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กพฐ. มีแนวคิดจะแยกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองออกมาเป็นรายวิชาที่ชัดเจน มีเนื้อหาการสอนและกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตรอย่างเข้มข้น เน้นให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรง ได้สัมผัสเรียนรู้อย่างแท้จริง

“ แนวคิดเมื่อแยกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ออกมาเป็นรายวิชาชัดเจนขึ้นจะทำให้มีเนื้อหาการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรเข้มข้น เช่น วิชาประวัติศาสตร์ ต้องพานักเรียนไปสัมผัสสถานที่จริง ให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับ รวมไปถึงต้องสอนให้เด็กรู้จักสิทธิและหน้าที่ที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันคนไทยรู้สิทธิ แต่ไม่ค่อยรู้หน้าที่ของคนเอง” นายกมล ระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อ 6 ที่ผ่านมา ในสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทางกระทรวงศึกษาธิการก็เคยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ เนื่องเพราะมีพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้รื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชทานในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 76 พรรษา เมื่อปี 2551 โดย นายสมชาย ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

ขณะที่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ในขณะนั้น ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้ข้อสรุปว่าจะจัดการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

“ ดิฉันได้หารือร่วมกับผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า สพฐ.จะเร่งดำเนินการเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ในเบื้องต้นจะจัดการเรียนการสอนเพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันวิชาประวัติศาสตร์จะรวมอยู่ในกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น จะจัดการเรียนอยู่ที่ 3 คาบต่อสัปดาห์ ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ 6 คาบต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนสอนขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละโรง ว่าจะแบ่งสัดส่วนการเรียนการสอนแบบไหน ส่วนใหญ่จะมัธยมศึกษาตอนปลายจะเรียน 1 คาบต่อสัปดาห์ เฉพาะหน้าจะให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น” คุณหญิงกษมา กล่าวเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2551

แต่สุดท้ายความพยายามในการปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กๆในระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายก็เงียบหายไปกับสายลม ?

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่าแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้มข้นขึ้น เพื่อปลูกฝังให้เด็กไทยตระหนักถึงความเป็นชาติและหล่อหลอมให้พวกเขาพร้อมที่จะช่วยกันปกป้องดูแลประเทศไทยให้รอดพ้นจากนักการเมืองคอร์รัปชั่นซึ่งบ่อนทำลายประเทศไทยมาหลายสิบปีเช่นเดียวกับประชากรในนานาอารยประเทศพึงกระทำ จะได้รับการผลักดันและสานต่อจริงหรือไม่ ? หรือจะกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่มีไว้ให้ลูกหลานได้ระลึกถึงเพียงแค่นั้น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น