xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” เผยคณะทำงานถกสัมปทานรอบที่ 21 ยังไม่นิ่ง - เมินตั้งคณะทำงานซ้ำซ้อนอีก 3 คณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกรัฐบาลแจงการประชุมสองฝ่ายหารือสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เผยยังเห็นตรงกันเรื่องการบริหารจัดการ และทบทวนกฎหมายหลายฉบับ เผยคณะทำงานยังไม่นิ่งเพราะฝ่ายผู้เห็นแย้งเสนอตั้ง 10 คน ทั้งที่ฝ่ายกระทรวงพลังงานไม่ทราบล่วงหน้า และปฏิเสธข้อเสนอตั้งคณะอนุกรรมการซ้อนขึ้นมาอีก 3 คณะ เพราะคณะทำงานชุดหลักยังไม่ได้ตั้งอย่างเป็นทางการ และทำงานซ้ำซ้อนกับภารกิจขององค์กรที่มีอยู่เดิม ให้เป็นหน้าที่ สนช.และ สปช.ดำเนินการ

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีคณะทำงานสองฝ่ายได้ประชุมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่มีตัวแทนจากกระทรวงพลังงานและตัวแทนฝ่ายที่เห็นแย้งไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคมนั้น ทั้งสองฝ่าย ยังคงมีความเห็นตรงกันในประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมทั้งเห็นควรมีการศึกษาทบทวนกฎหมายหลายฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514, พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน และการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้คือ การเสนอแนะข้อมูล การให้ข้อสังเกต รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่เห็นว่าสำคัญ ในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยให้การบริหารทรัพยากรมีความครอบคลุมรัดกุมยิ่งขึ้น ส่งมอบให้แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กำลังมีการพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ที่ตัวแทนฝ่ายผู้เห็นแย้งได้เสนอรายชื่อคณะทำงานมาเพิ่ม จากที่ได้เคยตกลงกันไว้ที่ 6 คน เป็น 10 คน โดยฝ่ายกระทรวงพลังงานมิได้ทราบล่วงหน้า จึงทำให้จำเป็นต้องกลับไปทบทวนรายชื่อ แล้วเสนอกลับมาให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แต่งตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมมือกันเดินหน้าทำงานต่อไป ในส่วนข้อเสนอจากฝ่ายผู้เห็นแย้งที่ต้องการให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการซ้อนขึ้นมาอีก 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบฝ่ายละไม่เกิน 10 คนในแต่ละคณะนั้น ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้ว่าจะมีการจัดตั้งหรือไม่ เพราะคณะทำงานชุดหลักยังไม่ได้ตั้งอย่างเป็นทางการ และกรอบการทำงานที่ตกลงกันไว้แต่เดิม การตั้งคณะทำงานร่วมคือการพยายามให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยหารือ หากเรื่องใดสามารถดำเนินการในระดับกระทรวงและเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายก็สามารถดำเนินการได้เลย หากเรื่องใดเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้กฎหมายหรือเกี่ยวพันกับหลายส่วนก็เห็นควรมอบให้เป็นหน้าที่ของ สนช.และ สปช. ดังนั้นการมีคณะอนุกรรมขึ้นมาหลายชุดนอกจากจะทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน รวมทั้งเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับภารกิจขององค์กรที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้นำเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และตั้งเป้าหมายว่าคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่าย จะหารือกันให้ได้ข้อสรุปภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายต่อไป


จากข้อสรุปคราวที่แล้ว จะทำให้มีการตั้งคณะทำงานย่อยมา 3 ชุด โดยส่วนตัวจะไม่เข้าร่วมในคณะทำงานทั้ง 3 ชุด แต่จะอยู่ในคณะทำงานร่วมชุดใหญ่ตามเดิม เพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้คณะทำงานชุดย่อยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น