xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสตรีลั่นเจตนารมณ์สู้ให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ จี้ รธน.บัญญัติให้ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายสตรีร่วมตัวประกาศเจตนารมณ์ในวันสตรีสากล ลั่นต่อสู้ให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ จี้บรรจุใน รธน.ให้ดีกว่าเดิม ย้อนที่ผ่านมาผู้หญิงเผชิญปัญหามาก ทั้งความเชื่อ อคติ มาตรการต่างๆ ควรให้โอกาสมีส่วนร่วมการบริหาร กำหนดสัดส่วน 50 : 50

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ(UN Women)กระทรวงต่างประเทศการค้าและพัฒนาประเทศแคนนาดา(DFATD,Canada) Internationat Republican Institute(IRI) ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า1,000 คน รวมตัวกันแสดงพลังเนื่องในวันสตรีสากล จากนั้นเดินขบวนรณรงค์ ไปตามถนนราชดำเนิน และเคลื่อนขบวนไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมอ่านประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องให้บรรจุสัดส่วนหญิงชาย50ต่อ50ในรัฐธรรมนูญ และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านเวที“104 ปี8มีนาวันสตรีสากล ผู้หญิงรำลึก เฉลิมฉลอง การปฏิรูปสู่อนาคต 50ต่อ50”

จากนั้น ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นางอรุณี ศรีโต ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ในฐานะตัวแทนกลุ่มขบวนผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มเครือข่ายสตรีอื่นๆ ได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันต่อสู้ให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2558 โดยนางอรุณีได้กล่าวประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน ผู้หญิงคือประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ แนวทางในการปฏิรูปประเทศในขณะนี้ย่อมส่งผลต่อประชากรเพศหญิงอย่างสำคัญ ปัจจุบันผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชายและทุกเพศสภาพแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาค่านิยม ความเชื่อดั้งเดิม และอคติทางเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับทั้งในทางการเมือง การบริหาร และการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศทุกมิติทุกระดับ ทั้งที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันในฐานะเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ดังนั้น เครือข่ายผู้หญิงทุกกลุ่มจึงขอให้ประเทศไทยต้องยึดหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกมิติ ดังนี้ คือ

1. ต้องยึดหลัก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายและทุกเพศสภาพ” 2. รัฐต้องกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขจัดอุปสรรคหรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศได้อย่างแท้จริง ยั่งยืน 3. ยึดหลักพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และหลักการยอกยากาตาร์ ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

4. เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด และต้องคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะไม่มีการควบรวมกับองค์กรใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ ความเสมอภาค รวมทั้งทุกมาตราที่บัญญัติรับรองสิทธิผู้หญิงและทุกเพศสภาพไว้เป็นการเฉพาะ 5. กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งหญิงและชาย ในทุกกลุ่มทุกขั้นตอนอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้สะท้อนความเสมอภาคอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และ 6. ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ ทุกมิติ โดยรวมถึงโครงสร้างในการพิจารณากฎหมาย โครงสร้างทางการเมือง ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น องค์กรอิสระ และคณะกรรมการใดๆ ของรัฐต้องมีสัดส่วนหญิงชาย 50 : 50

“ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และกลุ่มองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่าทิศทางและกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่ชอบธรรมและสามารถสร้างความปรองดองได้นั้น ต้องให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่เน้นการกระจายอำนาจ หลักความเสมอภาคระหว่างเพศ และการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน และต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมาย ในสัดส่วนที่สะท้อนฐานจำนวนประชากรหญิงที่เป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นหลักประกันให้ทั้งหญิงชาย และทุกเพศสภาพ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่หลากหลายได้เข้าร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทางและตัดสินใจในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุล ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคโดยแท้จริง” นางอรุณีกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น