xs
xsm
sm
md
lg

ร่างกม.ดิจิตอลเปลี่ยนอำนาจกสทช. รัฐรุกกุมข้อมูลเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม( NBTC Policy Watch ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดเสวนา บทบาท กสทช.ภายใต้เศรษฐิกิจ-สังคมดิจิตอล :ร่างกฎหมายดิจิตอลตอบโจทย์หรือไม่ โดยนายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการฯ เปิดเผยว่า สำหรับร่างกฎหมายดิจิตอลใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ กสทช.โดยเป็นการดึงอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอิสระ กลับไปยังหน่วยงานรัฐ และยังสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐได้ใช้คลื่นความถี่ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน โครงสร้างคณะกรรมการดิจิตอล ยังประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและวิสาหกิจ อาทิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การเปลี่ยนวิธีการให้ใบอนุญาตในกิจการฯจากการประมูลเป็นการคัดเลือก รวมถึงการยุบกองทุนกสทช.โดยการย้ายงบประมาณไปยังกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดกรอบการใช้จ่ายกว้างจนเกินไป และไม่มีตัวแทนจากภาคสังคมและผู้บริโภค

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า มองว่าการแก้กฎหมายนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางบริบทก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายกี่ฉบับ และควรออกเท่าที่จำเป็น

ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง(เครือข่ายพลเมืองเน็ต) กล่าวว่า โดยรวมแล้วร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับที่ออกมานั้น ไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล แต่เป็นการเปิดให้อำนาจหน่วยงานรัฐที่กว้างจนเกินไป ไม่มีกลไกการตรวจสอบ และการรับผิดชอบ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นั้นมองว่าเป็นการให้อำนาจหน่วยงานรัฐสอดส่องมากจนเกินไป โดยควรมีมาตรการการประสานงานร่วมกัน และแผนการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ แทนการให้อำนาจรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลสื่อสารทั่วประเทศ และสามารถปราบปรามได้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น