xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับ กม.ความมั่นคงไซเบอร์-ดิจิตอลมีจุดอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิษณุ” รับ กม. ความมั่นคงไซเบอร์ และชุด กม. ดิจิตอล มีจุดอ่อน หลังแจงองค์กรสื่อ ผู้ค้า อี-คอมเมิร์ซ ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย รับมีจุดอ่อนอย่างน้อยมี 3 ประเด็น ก่อนเสนอนายกฯพิจารณาแก้ไขโดยด่วน แต่ต้องรอขั้นตอนกฤษฎีกาปรับแก้เสร็จสิ้น

วันนี้ (6 ก.พ. 58) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนองค์กรสื่อ ผู้ค้า อี-คอมเมิร์ซ ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย ราว 20 คน หารือในข้อห่วงใยในชุดกฎหมายดิจิตอล ว่า ในการหารือครั้งนี้ มีการพูดคุยในเรื่องกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และชุดกฎหมายดิจิตอล ทั้งหมด 10 ฉบับ ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับร่างกฎหมายชุดนี้ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจทาน เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วง ซึ่งท่านเคยปรารภกับตนครั้งหนึ่ง ว่า ช่วยลงไปฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้หน่อยว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เราจะสามารถปรับปรุงอะไรได้ โดยความเห็นที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงออกและชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายดังกล่าวทั้ง 10 ฉบับ ซึ่งอย่างน้อยมี 3 ประเด็นสำคัญใหญ่ๆ ที่จะต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน

ประเด็นแรกคือ การกำกวมของถ้อยคำภาษาจนอาจทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นปฏิบัติไม่ถูก เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติไม่ถูกก็จะเกิดความยุ่งยากกับภาคเอกชน ซึ่งเกิดจากการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางกลับกันหากผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกคือภาคเอกชน ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด จึงต้องมีการปรับปรุงภาษาให้มีความชัดเจน

ประเด็นที่ 2 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการไม่มีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หลายมาตรการที่เขียนในกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งอาจจะมีโอกาสที่จะไปล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพ โดยไม่จำเป็น และไม่มีมาตรการถ่วงดุล ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างในมาตรา 35 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ ภาคเอกชนก็บอกว่าหากเจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าไปตรวจสอบเอง โดยไม่มีอำนาจศาลก็ไม่มีความไว้วางใจ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นจุดอ่อนที่ขาดการถ่วงดุลและเกณฑ์การใช้อำนาจโดยปราศจากการควบคุม

ประเด็นที่ 3 คือ กฎหมายบางฉบับสร้างภาระให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งกฎหมายบางฉบับระบุว่าเอกชนต้องเก็บข้อมูลบางอย่างไว้อย่างน้อย 2 ปี จากที่ไม่เคยต้องเก็บ รัฐจึงต้องชี้แจงถึงความจำเป็นที่เอกชนจะต้องรับภาระ

“ในวันนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นของกฤษฎีกา ยังมีระยะเวลาอีกยาวนาน วันนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า กฎหมายดิจิตอลทั้ง 10 ฉบับนี้ ซึ่งแบ่งได้เป็นหลายชุด โดยชุดแรก 4 ฉบับ ให้กรรมการกฤษฎีกาคณะหนึ่งตรวจทาน ชุดที่ 2 อีก 2 ฉบับ ก็ส่งไปอีกคณะหนึ่ง ชุดที่ 3 ฉบับเดียวคือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็ส่งไปอีกคณะหนึ่ง ชุดสุดท้ายอีก 3 ฉบับก็อีกคณะหนึ่ง ซึ่งต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแยกกันตรวจสอบ หากชุดเดียวตรวจทั้งหมดคาดว่าคงใช้เวลาหลายปี ซึ่งเมื่อภาคเอกชนได้ฟังก็เป็นห่วงเนื่องจากกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ มีความเชื่อมโยงกัน เกรงว่าจะขาดการบูรณาการ”

นายวิษณุ กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงไปว่า ในที่สุดสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ จะมีการบูรณาการจากคณะกรรมการที่ตรวจสอบก่อนหน้านี้ และเมื่อถึงเวลาส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพียงคณะเดียวเพื่อตรวจสอบจึงอย่าได้เป็นห่วงเพราะการบูรณาการจะต้องเกิด ไม่มีใครยอมให้กะรุ่งกะริ่งแน่

ตนยังระบุกับภาคเอกชน ว่า จะนำเรื่องเรียนนายกรัฐมนตรีว่ามีประเด็นข้อห่วงใยอย่างไร และจะแจ้งไปยังกฤษฎีกาว่าอยากให้ภาคเอกชนเข้าไปชี้แจงภาพรวมแก่กรรมการกฤษฎีกาในทุกคณะที่ตรวจสอบร่างกฎหมายดิจิตอลเพื่อจะได้เห็นภาพรวมและเห็นปัญหาทั้งหมด ซึ่งภาคเอกชนก็ยินดีที่จะเข้าไปชี้แจงเพื่อที่ภาคเอกชนจะได้บอกถึงประเด็นข้อขัดแย้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังกฤษฎีกาปรับแก้เสร็จสิ้น

“เมื่อไหร่ที่กฎหมายฉบับนี้ส่งไปยัง สนช. แล้ว รัฐบาลจะขอให้ภาคเอกชนเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของรัฐบาล เพื่อเข้าไปนั่งร่วมกันแก้ไขในขั้นของสภา”

ส่วนกรณีมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะต้องแก้ไขใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เช่นเดียวกันกับอีกหลายมาตรา เพราะดูแล้วมันมีประเด็นข้อห่วงใยตามที่ภาคเอกชนพูดจริงๆ ส่วนจะยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าถึงข้อมูลได้อีก นายวิษณุ กล่าวว่า มีกฎหมายที่ไม่ได้อยู่ในชุดกฎหมาย 10 นี้ ซึ่งรัฐบาลไม่คิดจะแก้ แต่เอกชนระบุว่ามันโยงถึงกันได้ เช่น กฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งภาคเอกชนห่วงใยว่าจะมีประโยชน์อะไร หากมีกฎหมายคุ้มครองไซเบอร์ แต่ยังมีการละเมิดตามเว็บไซต์อยู่ จึงต้องแก้ทั้งระบบ และตนยังได้บอกไปว่า กฎหมายทั้ง 10 นี้ เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจดิจิตอล 9 ฉบับ ฉบับอีกอันคือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ มันหนักไปทางความมั่นคง รัฐบาลจึงให้น้ำหนักกับกฎหมายฉบับนี้เป็นตัวสุดท้าย จึงจะดำเนินการไปในระยะหลัง และบางฉบับใน 9 ฉบับจำเป็นต้องออกมาก่อน

ทั้งนี้ ตนได้สอบถามทางกฤษฎีกาในคณะกรรมการที่แยกไปดูเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งทางกรรมการดังกล่าวก็เห็นถึงประเด็นที่ไปกระทบสิทธิประชาชน และยังมองไม่เห็นความชัดเจนในบางเรื่อง รวมถึงประเด็นการเพิ่มภาระกับภาคเอกชน ซึ่งตรงกับความห่วงใยของภาคเอกชน ที่ได้มาบอกเล่าในวันนี้ เพราะสิ่งที่รัฐบาลได้เสนอและมีการทักท้วงหรือคัดค้าน รัฐบาลก็รับฟังเสมอ

“กรณีเช่น แถลงการณ์พระราชวังปลอมออกมา พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะมีประโยชน์หรือไม่ ยังคิดไม่ออก เพราะวิธีการที่จะทำมีสารพัด ขนาดวันนี้ยังไม่ทันมีเจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะจับได้แล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น