xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเดินหน้า"กม.ไซเบอร์" "อนุดิษฐ์"ติงอย่าขัดรธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (26 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลยุติเดินหน้าออก ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ว่า ไม่จริง รัฐบาลยังคงเดินหน้ากฎหมายดังกล่าว เพราะมีความจำเป็น ทุกประเทศห่วงภัยทางไซเบอร์กันหมด และมีกฎหมายนี้กันหมดแล้ว ซึ่งอันที่จริงเนื้อหาสาระ ไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล อย่างมาตรา 35 (3) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทุกช่องทางจริง แต่จะระบุไว้ด้วยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง ขั้นตอนเข้าตรวจสอบ ทำอย่างไร และ มาตรา 36 กำหนดบทลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่เอาข้อมูลที่ได้มาไปเปิดเผย ติดคุก 3 ปี และมีโทษปรับ ทุกอย่างยังแก้ไขได้ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และสนช.
ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ข้อกังวลที่ว่า อาจจะละเมิดสิทธิประชาชนได้นั้น กฎหมายดิจิตอล 8 ฉบับ มี 3 ฉบับ ที่ประชาชนห่วง คือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดอยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขอยืนยันกับประชาชนว่า จะดูแลอย่างเต็มที่ จะตรวจพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อทักท้วง หากอะไรเป็นการใช้อำนาจที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะหามาตรการต่างๆ มากำกับดูแลให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงในชั้นนี้ยังสามารถปรับแก้เนื้อหาได้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะรับฟังความเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมถึงข้อคิดเห็นจากวงเสวนา ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพทอ.) หรือ ETDA จัดขึ้นทุกสัปดาห์ ขอให้มั่นใจได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาการตรวจพิจารณาสักระยะหนึ่ง เพราะต้องดูให้ละเอียด และเพื่อให้มีกลไกป้องกันที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ห่วงใย ได้ให้แนวทางว่าต้องทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นว่า โลกปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี หลายประเทศมีกฎหมายนี้แล้ว เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจการค้า แต่เมื่อกฎหมายดังกล่าว มีคุณอนันต์ นายกฯย้ำว่า ต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้มีโทษมหันต์ หลังครม.เห็นชอบหลักการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้สมบูรณ์ และรอบคอบ ทำให้ประชาชนเห็นใจว่า ไม่ได้เป็นการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำได้ทุกอย่าง ทำเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงเท่านั้น จะทำโดยพลการไม่ได้ มีกฎหมายลงโทษ และขั้นตอนยังไม่จบ หากมีข้อทักท้วง ประชาชนสามารถเสนอความคิดเห็นเข้าไปได้ในชั้น สนช.
นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เสร็จสิ้น และส่งกลับไปยังหน่วยงานเจ้าของเรื่องแล้ว คาดว่าน่าจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันนี้ (27 ม.ค.) เพื่อส่งต่อไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ด้านน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึง กรณีรัฐบาลผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบบับนี้ว่า ปกติการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ถือเป็นหัวใจสำคัญของผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ตัวกฎหมายไซเบอร์ยังเป็นแค่ระดับการร่างกฎหมายเท่านั้น ต้องถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ต่อไป ซึ่งในชั้นนั้นต้องให้ความสำคัญ คือ ร่างดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อบทพื้นฐานที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีออกมา เนื่องจากตัวกฎหมายไซเบอร์ มีผลกระทบหลากหลาย เกรงว่าบางตัวบทจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เอื้อประโยชน์ต่อการควบคุม และการบริหาร แต่หากไปกระทบสิทธิประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่น่ากระทำได้ คิดว่าประชาชนที่คัดค้านอาจจะเห็นว่า บางตัวบทฉบับร่างดังกล่าวไปกระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จึงออกมาทักท้วง
กำลังโหลดความคิดเห็น