xs
xsm
sm
md
lg

จี้ระบุสิทธิสตรีใน รธน. สัดส่วนการเมือง50:50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"เครือข่ายผู้หญิงฯ" ประกาศเจตนารมณ์ในวันสตรีสากล วอนยกร่างรธน.ใหม่ ต้องมีเนื้อหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพไม่ด้อยกว่า รธน. 40 และ 50 กำหนดสัดส่วน 50 : 50 ในการตัดสินใจ ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น ปชป. หนุนสัดส่วนสตรี 1 ใน 3 ของบัญชีรายชื่อ-สภาท้องถิ่น เชื่อจะสร้างโอกาสและเปลี่ยนทัศนคติบทบาทสตรีในทางการเมือง "ยิ่งลักษณ์"โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้เสมอภาคจะเกิดได้ ความยุติธรรมต้องมาก่อน

วานนี้ (8 มี.ค.) ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นางอรุณี ศรีโต ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ในฐานะตัวแทนกลุ่มขบวนผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มเครือข่ายสตรี อื่นๆ ได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2558

นางอรุณี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน โดยผู้หญิงคือประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งแนวทางในการปฏิรูปประเทศในขณะนี้ ย่อมส่งผลต่อประชากรเพศหญิงอย่างสำคัญ ปัจจุบันผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ร่วมกับผู้ชาย และทุกเพศสภาพแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาค่านิยม ความเชื่อดั้งเดิม และอคติทางเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ ทั้งในทางการเมือง การบริหาร และการกำหนดนโยบาย และแผนพัฒนาประเทศทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันในฐานะเป็นภาคีอนุสัญญา ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ดังนั้น เครือข่ายผู้หญิงทุกกลุ่ม จึงขอให้ประเทศไทยต้องยึดหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกมิติ ดังนี้ คือ

1. ต้องยึดหลัก "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายและทุกเพศสภาพ"

2. รัฐต้องกำหนดมาตรการพิเศษ เพื่อขจัดอุปสรรค หรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศได้อย่างแท้จริง ยั่งยืน

3. ยึดหลักพันธกรณี และกติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ปฏิญญาปักกิ่ง และแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และหลักการยอกยากาตาร์ ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ

4. เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องไม่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด และต้องคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะไม่มีการควบรวมกับองค์กรใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ ความเสมอภาค รวมทั้งทุกมาตราที่บัญญัติรับรองสิทธิผู้หญิงและทุกเพศสภาพไว้เป็นการเฉพาะ

5. กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งหญิงและชาย ในทุกกลุ่มทุกขั้นตอนอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้สะท้อนความเสมอภาคอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

6. ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ ทุกมิติ โดยรวมถึงโครงสร้างในการพิจารณากฎหมาย โครงสร้างทางการเมือง ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น องค์กรอิสระ และคณะกรรมการใดๆ ของรัฐต้องมีสัดส่วนหญิงชาย 50 : 50

"ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และกลุ่มองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่า ทิศทางและกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ที่ชอบธรรมและสามารถสร้างความปรองดองได้นั้น ต้องให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่เน้นการกระจายอำนาจ หลักความเสมอภาคระหว่างเพศ และการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน และต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมาย ในสัดส่วนที่สะท้อนฐานจำนวนประชากรหญิงที่เป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นหลักประกันให้ทั้งหญิงชาย และทุกเพศสภาพ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่หลากหลายได้เข้าร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทางและตัดสินใจในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุล ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคโดยแท้จริง " นางอรุณี กล่าว

**ปชป.หนุนสัดส่วนสตรีการเมือง 1 ใน 3

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง บทบาทสตรีไทยในสังคม ว่า ขณะนี้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการเสนอให้มีสัดส่วนผู้หญิงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วย ที่จะให้ผู้หญิงเข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ และเห็นว่าไม่ใช่ข้อเสนอที่มากเกินไป เพราะสัดส่วนประชากรผู้หญิงนั้นมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ สังคมเราไม่ได้มีผู้หญิงที่ต้องการที่อยากจะเข้ามาเล่นการเมืองมากมายขนาดนั้น

ดังนั้นในทางทางปฏิบัติ ข้อเสนอดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเข้าสู่การเมืองของผู้หญิงนั้น จะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่จะต้องรับผิดชอบครอบครัว เมื่อผู้หญิงตัดสินใจจะเข้ามาเล่นการเมืองแล้ว อาจจะต้องยอมรับบริบทของสังคม ที่อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม

"เคยมีงานวิจัยของประเทศสวีเดน ที่ระบุว่า หากผู้หญิงเข้ามาสู่แวดวงการเมืองแล้ว อัตราการคอร์รัปชันจะลดลงมากกว่าผู้ชาย หรืออาจจะไม่มีการคอร์รัปชันเลยก็ได้ เว้นแต่บางกรณีที่ผ่านมา ที่เราเคยมีอดีตนายกฯ เป็นผู้หญิง แต่ก็ยังมีการคอร์รัปชัน ซึ่งส่วนตัวอยากให้มีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพราะฉะนั้นสังคมไทย อาจจะมีการรณรงค์จากหลายๆ ภาคส่วนให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหากจะมีผู้หญิงที่พร้อมจะออกมาทำงานเพื่อสาธารณะ เราก็น่าจะสนับสนุนให้มากขึ้น" รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว

**"ปู"ชี้เสมอภาคต้องมียุติธรรมก่อน

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra เนื่องในวันสตรีสากล ว่า ขอร่วมแสดงความยินดีกับสตรีทั่วโลก ที่ได้มีโอกาสเฉลิมฉลองความสำเร็จของสตรี และการเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมที่มากขึ้น แม้ความเป็นมาของวันสตรีสากลนั้น จะเริ่มต้นจากการเรียกร้องสิทธิแรงงานของสตรีกลุ่มหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นการจุดประกายให้แก่สตรีทั่วโลกได้เริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิสตรีด้านอื่นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2558 ปีที่สตรีทั่วโลกมุ่งสร้างความเสมอภาคให้เป็นจริง

แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศของเราในปัจจุบัน ถ้าเราจะทำให้ความเสมอภาคเท่าเทียมเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมต้องมาก่อน ความยุติธรรม ในเจตคติที่มองมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงจะได้รับ อันเป็นการปฏิบัติต่อกัน ด้วยการเคารพสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตนยังเห็นว่า ความเสมอภาคในสิทธิของสตรียังคงเป็นปัญหาหลักที่ท้าทายเราอยู่ทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ยังคงมีความรุนแรงต่อสตรีอยู่ ซึ่งหมายรวมถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงทางเพศ อันเป็นผลมาจากการทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน รวมไปถึงการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันสิทธิและเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะ และในชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในครอบครัว ในชุมชน หรือ ความเพิกเฉยต่อความรุนแรง และความรุนแรงในสตรีนั้นก็ยังมีอยู่ จนเกิดเป็นธุรกิจทางเพศที่นำเอาสตรีและเด็กมาขายบริการ

"ที่ผ่านมาดิฉันได้วางยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางสังคมให้เป็นจริงขึ้น ด้วยการผลักดันให้เกิดพลังของผู้หญิงในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สตรีมีความรู้พื้นฐานที่จะปกป้องตัวเอง การที่ทำให้สตรีสามารถเข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาให้สตรีได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก รวมถึงการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

ในโอกาสนี้ ตนในฐานะที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน ขอแสดงความชื่นชม และเป็นกำลังใจในพลังของสตรี และหวังว่าวันสตรีสากลนี้ จะเป็นอีกวันหนึ่งที่เราจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อนึกถึงผู้หญิงทุกคน เพื่อให้ผู้หญิงนั้นได้มีโอกาสได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างที่สตรีทุกคนควรจะได้รับ และได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะตนเชื่อว่าด้วยความมุมานะ และอดทนของผู้หญิงจะเป็นพลังในการต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มากมาย แล้ววันหนึ่งก็จะได้ยืนขึ้นมามีบทบาทได้อย่างสมศักดิ์ศรีไม่แพ้เพศชายเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น